

วันที่ 18 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป ออกมากระตุ้นประชาชนระมัดระวังตนระหว่างช่วงหยุดยาว ขณะยุโรปกำลังรับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ชนิดกลายพันธุ์ สองสายพันธุ์ ที่แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น และอาจยิ่งเพิ่มภาระหนักแก่ระบบสาธารณสุข
“ภูมิภาคยุโรปเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดตั้งแต่ก่อนค้นพบเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน โดยมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตาจำนวนมาก” ฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การฯ ระบุในแถลงการณ์
องค์การฯ ระบุว่าโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภัยเสี่ยงร้ายแรง ขณะเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่เชื้อได้ง่าย เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วภูมิภาค และเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังไม่มีใครทราบข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบของมัน
คลูเกอระบุว่าประสบการณ์ในอดีตชี้ว่ามาตรการที่มีประสิทธิภาพคือประชาชนระมัดระวังตน และแต่ละประเทศใช้เครื่องมือที่มีในปัจจุบัน อาทิ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 วัคซีนโดสกระตุ้น การตรวจเชื้อ หน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่าง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้สถานการณ์มีเสถียรภาพ สามารถควบคุมเชื้อไวรัสฯ และรักษาความปลอดภัยของประชาชนได้
“เราก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับปีก่อน และมีตัวอย่างของความสามัคคีที่น่าประทับใจให้เห็น เรารู้แล้วว่าวิธีไหนได้ผล และจะสามารถปกป้องตนเองและผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการค้นพบเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเหล่านี้ องค์การฯ ประจำยุโรปติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญทั่วภูมิภาคเป็นประจำ และจะเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมทันทีที่เราได้รับมัน”
คลูเกอวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อมูลเท็จปริมาณมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน พร้อมกระตุ้นประชาชน “เสาะหาแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ ที่ให้คำแนะนำโดยอ้างอิงจากหลักฐานล่าสุดและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง”