

- สศอ.เผยเม็ดเงินเลือกตั้งปี66ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยพบมีงบประมาณจัดเลือกตั้งของกกต.มูลค่า5,945ล้านบาท
- ประเมินยอดค่าใช้จ่ายกิจกรรมหาเสียงของพรรคการเมืองอยู่ที่21,664-30,368ล้านบาท
- เผยอุตสาหกรรมเชื่อเพลิง–สิ่งพิมพ์–ผลิตภัณฑ์เคมี–กระดาษ–อาหารเครื่องดื่มรับอานิสงส์เต็มๆ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยเม็ดเงินเลือกตั้งปี 66 ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยมีแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. เงินส่วนแรก คือ เม็ดเงินที่มาจากงบประมาณในการจัดเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มูลค่า 5,945 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ กกต. จะใช้เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งเช่น ป้ายรณรงค์, เตรียมการเลือกตั้ง เช่น คูหา บัตร วิทยากร, อำนวยความสะดวก ณ วันเลือกตั้ง เช่น จ้างพนักงานหน้าคูหา และการตรวจสอบผลการเลือกตั้ง
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด คือ 1. น้ำมันเชื้อเพลิง 2. สิ่งพิมพ์และการพิมพ์โฆษณา 3. ผลิตภัณฑ์เคมี(เม็ดพลาสติก และน้ำหมึก) 4. กระดาษ และ 5. อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ จะกระตุ้นใน GDP ภาคอุตสาหกรรม (GDP Manufacturing) เพิ่มขึ้น 3,054 ล้าน หรือ 0.03% และ MPI เพิ่มขึ้น 0.04%
2. เงินส่วนที่สอง คือ เม็ดเงินที่มาจากค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมือง โดย กกต. กำหนดไว้ให้สส.เขต สามารถใช้จ่ายหาเสียงได้ 1.9 ล้านบาท/คน และสส.บัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาท/พรรค
โดยในส่วนของเงินก้อนนี้ พรรคการเมืองจะใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นค่าสมัครรับเลือกตั้ง, ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง, ค่าเสื้อผ้า, ค่าสื่อโฆษณา/ ป้าย, ค่าอุปกรณ์หาเสียง, ค่าเช่าสถานที่ปราศรัย, ค่ายานพาหนะเดินทาง และค่าอาหารเครื่องดื่ม โดยยอดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมหาเสียงของพรรคการเมืองจะอยู่ที่ 21,664-30,368 ล้านบาท
นางวรวรรณ กล่าวว่า สามารถคำนวณเป็น 2 กรณี คือ 1. ค่าใช้จ่าย 21,664 ล้านบาท คิดจาก สส.เขต ลงสมัครเท่ากับปี 2562 โดยงบต่อคน 1.9 ล้านบาท และงบต่อพรรค 44 ล้านบาท และ 2. ค่าใช้จ่าย 33,368 ล้านบาท คิดจาก สส.เขต ลงสมัครเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 14.3% คน จากตำแหน่ง สส.เขต ที่เพิ่มจาก 350 เป็น 400 คน
นอกจากนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลเชิงบวกมากที่สุด คือ 1. อุปกรณ์วิทยุและเครื่องเสียง 2. เครื่องแต่งกายผลิตเพิ่มขึ้น 3. น้ำมันเชื้อเพลิง 4. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 5. สิ่งพิมพ์และการพิมพ์โฆษณา 6.อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
“โดยเมื่อนำมาคำนวณ พบว่า เงินก้อนนี้กระตุ้น GDP Manufacturing เพิ่มขึ้น 34,821-48,808 ล้านบาท หรือ0.3-0.4% และ MPI เพิ่มขึ้น 0.4-0.6%”
ดังนั้น หากรวมเม็ดเงินทั้ง 2 ส่วน จากทั้ง กกต. และพรรคการเมือง จะสามารถกระตุ้น GDP Manufacturing จะได้0.33-0.53% และกระตุ้น MPI ได้ 0.44-0.64%