

- หนุนเกษตรกรปลูก “กัญชา” แทนยาสูบ
- ลั่น!ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เป็นเรื่องโลกแตก
- ต้องทำให้รอบคอบหวั่นถูกแซงซั่น
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย(ยสท.) หารือกับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น ที่มีหน่วยวืจัยสมุนไพร ร่วมกันวิจัยพืชสมุนไพรในประเทศไทยว่าพืชตัวไหนมีศักยภาพที่จะเป็นดูแลรักษาปอดจากการสูบบุหรี่ และหาพืชทดแทนให้เกษตรกรที่ปลูกยาสูบด้วย
“ทีผ่านมาไม่เคยมีการวิจัยจริงจังว่าพืชตัวไหนมีศักยภาพล้างปอดหรือลดสารนิโคตินในบุหรี่ ถ้าหากนำสารบำรุงปอดเข้าไปใส่ในมวนบุหรี่ได้ก็จะเป็นการดี เพราะข้อเสียสำคัญของบุหรี่คือการทำลายสุขภาพ ส่วนบริษัทบุหรี่ต่างชาตินั้น เขาเสนอว่ามีทุนวิจัยให้กับมหาวิยาลัยทั่วโลกอยู่แล้ว จึงแนะนำให้ยสท.ไปพูดคุยว่าจะสามารถนำเงินทุนมาร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยในไทยได้หรือไม่ เพราะสมุนไพรไทยมีมาก และขาดแค่การวิจัยเท่านั้น”
นอกจากนี้ได้แนะนำให้ยสท.หารือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเพราะตอนนี้มีการวิจัยพืชสมุนไพรในประเทศไทยอยู่ โดยมีพืชตัวหนึ่งที่นำมาผสมยาสูบแล้วได้ผลในการชะลอโควิด-19 ด้วย แต่เรื่องนี้จะต้องวิจัยให้รอบคอบเสียก่อน
ทั้งนี้ยังให้ไปหารือกับองค์การเภสัช เพื่อดูว่าจะสามารถนำพืชใดมาปลูกทดแทนยาสูบได้หรือไม่นั้น เช่น กัญชง กระท่อม โดยเฉพาะพืชกัญชา ที่ขณะนี้มีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กัญชา โดยให้รวมตัวกับเป็นวิสาหกิจชุมชนไปขอปลูกเพื่อส่งให้องค์การเภสัชนำไปผลิตยารักษาโรค เพราะเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบของยสท.มีระเบียบวินัและมีความรู้ปลูกพืชเฉพาะทาง เช่น เดิมเกษตรกรปลูกยาสูบ 20 ไร่ แต่เมื่อขึ้นภาษีบุหรี่ จึงปลูกลดลงเหลือ 5ไร่ ส่วนที่เหลือ 15 ไร่ก็รวมกลุ่มกับเกษตรกรเป็นวิสาหกิจเพื่อขอปลูกกัญชาระบบปิดเป็นแปลงร่วมกัน เป็นต้น
ส่วนการเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ ที่ปัจจุบันยังจัดเก็บอยู่ 2 อัตรา ได้แก่ กรณีราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง เสียภาษี 20% และหากราคาขายปลีกสูงกว่าซองละ 60 บาท เสียภาษี 40% ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 1 ต.ค.2564 นั้น จะต้องคิดให้รอบคอบในการปรับลดภาษีหรือการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีในอัตราเดียว เพราะถ้าหากมีการปรับลดภาษีบุหรี่ก็อาจจะโดนองค์การอนามัยโลก (WHO) แซงซั่น หรือ ห้ามการทำธุรกิจได้
“เรื่องการปรับภาษีบุหรี่เป็นเรื่องโลกแตก ถ้าปรับภาษีลดลง WHO, องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) รวมถึงแพทย์ ที่พิทักษ์สุขภาพก็ไม่ยอม เท่าที่ศึกษาตอนขึ้นภาษีบุหรี่ 2 อัตราโดยขึ้นมากสุด 40% ก็โดนแรงต้านจาก WHO ที่จะแซงซั่น โดยระบุว่าประเทศส่งเสริมให้มีการสุบบุหรี่ ซึ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น และทำให้คนที่อายุน้อยเข้าสู่วงการนักสูบ”
นอกจากนี้จากการศึกษาภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บในปัจจุบันรัฐมีรายได้แค่ 2,000-3,000ล้านบาทเท่านั้นซึ่งน้อยมาก ถ้าเทียบกับรายได้จากอย่างอื่น ส่วนการที่อัตราภาษีบุหรี่สูงและจูงใจให้คนลักลอบนำบุหรี่เถื่อนเข้าประเทศเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่เหตุผล แต่อยู่ที่ความสามารถของรัฐในการป้องกันการสกัดลักลอบลดลง ดังนั้นต้องจับให้ได้เยอะกว่านี้