

- ชี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมเก็บภาษีตัวใหม่
- เน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการชะลอปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 และเพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เนื่องจากในวันที่ 1 ต.ค.64 จะครบกำหนดเวลาที่ต้องมีการปรับขึ้นภาษีตามขั้นบันได จากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาษีเครื่องดื่มที่มีสารความหวาน ได้กำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 4 ระยะ ปัจจุบันเก็บเป็นระยะที่ 2 แล้ว โดยวันที่ 1 ต.ค.64 จะถึงระยะที่ 3 จะมีการคิดอัตราภาษีก้าวกระโดดขึ้นมาก แบ่งเป็น ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 0.10 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 0.30 บาท/ลิตร, ปริมาณน้ำตาม 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 0.30 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 1 บาท/ลิตร, ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 1 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 3 บาท/ลิตร, ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 3 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 5 บาท/ลิตร เป็นต้น
“วันที่ 1 ต.ค.64 จะมีการปรับขึ้นภาษีความหวานตามขั้นบันไดแล้ว แต่ช่วงนี้ก็ประสบปัญหาโควิด-19 ขึ้นมา กรมจึงจะมีการทบทวนดูว่าจะมีการชะลอขึ้นภาษีออกไปหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้กรมจะต้องมีการนำข้อมูลนำมาพิจารณารายละเอียดดูความเหมาะสมอีกครั้ง ยังไม่ได้มีการยืนยันว่าจะมีการเลื่อนออกไประยะเวลาเท่าไหร่ และจำนวนมากน้อยแค่ไหนบ้าง”
นายลวรณ กล่าวว่า การพิจารณาภาษีสรรพสามิตในปีนี้ จะไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มเติม และจะยังไม่มีภาษีใหม่ๆ ออกมา เช่น ภาษีความเค็ม เป็นต้น เนื่องจากมองว่าช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันหากมีภาษีใหม่ๆ ออกมา มองว่าอาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการด้วย ดังนั้นในปีนี้ จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ให้ได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดลง เหลือ 550,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมตามเอกสารงบประมาณ ต้องจัดเก็บรายได้ 630,000 ล้านบาท
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้นั้น กรมจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้พัฒนาระบบต่างๆ ในกรม รวมถึงการตรวจสอบการคืนภาษีน้ำมันตามการยกเว้นภาษีครั้งนี้จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเก็บเอกสารให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ว่าน้ำมันได้ถูกส่งออกจริงเพื่อขอคืนภาษีหรือไม่ ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในเดือนมี.ค.64
ส่วนการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดูรายละเอียด จะเห็นความชัดเจนในเดือนมี.ค.64 โดยจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. รายได้เกษตรกร 2. สุขภาพของประชาชน 3. บุหรี่เถื่อน และ 4. รายได้ของกรม ซึ่งจะเป็นการปรับถาวร จะไม่ให้เป็นการเลื่อนชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมา