“สมุทรสาคร”ติดเชื้อรายใหม่ 894 ราย ชี้ตัวเลขลดลงจากเร่งฉีดวัคซีน-คุมพื้นที่เสี่ยง



วันที่ 27 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จ.สมุทรสาคร จากการรายงานข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเวลา 00.00 น.วันที่ 26 สิงหาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 894 ราย ซึ่งต่ำกว่า 1,000 ราย เป็นวันที่สองติดต่อกัน

จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุก 117 ราย และผู้ติดเชื้อที่มาจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลอีก 762 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร 569 ราย ที่เหลือเป็นคนนอกจังหวัดอีก 193 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในกลุ่ม Bubble & Sealed อีก 15 ราย ด้านผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดรวม 88,343 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 68,327 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 19,517 ราย และผู้เสียชีวิตรายวันจำนวน 14 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 499 ราย

นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสาคร กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร ลดลงอย่างต่อเนื่อง และต่ำกว่า 1,000 ราย เป็นวันที่สองติดต่อกันแล้วนั้นว่า เรื่องของอัตราการติดเชื้อต้องรอดูระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือสูงสุดคือ 14 วัน ดังนั้น ข้อมูลที่ลดจะเป็นเรื่องการติดเชื้อเมื่อสถานการณ์ที่เรามองย้อนกลับไปได้ 2 สัปดาห์ ดังนั้น โอกาสที่เชื้อลดลงมา สาเหตุปัจจัยหลักๆ ที่เราทำอยู่ตอนนี้คือการฉีดวัคซีน

นพ.นเรศฤทธิ์กล่าวว่า เรามีการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายตามประชากรกลุ่มเป้าหมาย รวมกับผู้ที่ติดเชื้อไปส่วนหนึ่งก็จะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ค่าของการมีภูมิคุ้มกันในชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปัจจัยที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือการกำหนดใช้มาตรการพื้นที่เสี่ยง หรือการกำจัดกิจกรรมของประชาชน ซึ่ง จ.สมุทรสาคร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามมาตรการของ ศบค.ที่นับเป็นหัวใจสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อระหว่างชุมชนเข้าสู่ครอบครัว

“อีกหนึ่งคือมาตรการในโรงงาน ตอนนี้กิจกรรมสำคัญในโรงงานคือมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลที่พยายามจะให้โรงงานมีการบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของโรงงานที่ดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลงตามลำดับ”

ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์ของ จ.สมุทรสาคร ในช่วงเดือนหน้านี้ ถ้าในภาพรวมเรายังคงมาตรการเหมือนอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ และทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ ศบค.มีมาตรการเฉพาะในสถานที่เสี่ยงเข้มข้นมากขึ้น เช่น โรงงาน สถานประกอบการ ร้านอาหาร เป็นต้น น่าจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง รวมถึงการฉีดวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นตัวช่วยเรื่องของการควบคุมการระบาดของเชื้อได้