

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงาน บริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า
กรณีกระแสข่าวที่มีความกังวลว่าบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจและจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยสูงเกินกรอบ 60 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เนื่องจากต้องรับภาระหนี้ 400,000 ล้านบาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตามหลักการ หนี้ทั้งหมดของการบินไทยจะไม่ถูกรวมกับหนี้สาธารณะของประเทศ เนื่องจากตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจ หนี้สาธารณะจะนับเฉพาะการก่อหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมหรือขอสินเชื่อเท่านั้น
“ถ้าในอนาคตการบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง จะต้องดูโครงสร้างของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีหลายประเภท และแต่ละประเภทมีกฎหมายแตกต่างกัน”
อย่างไรก็ตามการบินไทยเป็นลูกหนี้ของกระทรวงการคลัง เนื่องจากติดหนี้กระทรวงการคลังอยู่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้มาและนำไปปล่อยให้การบินไทย และที่ผ่านมาการบินไทยมีการบริหารจัดการหนี้จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นครบ จนถึงปี2563 ที่การบินไทยไม่สามารถชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังได้ ซึ่งหนี้ในส่วนนี้ถูกนับอยู่ในหนี้สาธารณะของประเทศมานานแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการนำบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลับคืนเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว โดยการบินไทย จะเป็นกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ลักษณะเดียวกับธนาคารกรุงไทย โดยรัฐจะถือหุ้น ทางอ้อม ซึ่งการพิจารณานั้น ได้ยืดหลักตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องๆนั้น มาประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้หากยึดหลักรัฐถือหุ้นทางอ้อมแล้วนั้น การบินไทย ก็ไม่ได้หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากหน่วยงานรัฐถือหุ้นรวมกันเกิน 50% ซึ่งจากการตรวจสอบงบการเงินของการบินไทย จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก คือ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 47.86 % กองทุนรวมวายุภักดิ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 8.54% กองทุนรวมวายุภักดิ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 8.54% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 2.57% ธนาคารออมสิน 1.93 %
ส่วนงบการเงินปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 208,790 ล้านบาท หนี้สินรวม 337,455 ล้านบาท มีรายได้รวม 48,636 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 141,170 ล้านบาท ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก คือ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 47.86 % กองทุนรวมวายุภักดิ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 8.54% กองทุนรวมวายุภักดิ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 8.54% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 2.57% ธนาคารออมสิน 1.93 %
สำหรับเหตุผลหลักที่ต้องการให้การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น เนื่องจากเจ้าหนี้ต้องการความมั่นใจในการเดินหน้ากิจการของการบินไทย หลังจากโหวตแผนฟื้นฟูจากเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ซึ่งเจ้าหนี้ จะเพิ่มทุนให้การบินไทย แต่กระทรวงการคลังจะต้องค้ำประกัน ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดว่าจะสามารถค้ำประกันได้หรือไม่ เนื่องจากการค้ำประกันการบินไทย จะมีผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ เนื่องจากการบินไทย มีหนี้มากเกือบ 400,000 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปวิเคราะห์รายละเอียดแล้วนำมารายงานให้กระทรวงการคลังได้รับทราบโดยเร็วที่สุด