สธ.ชงศบค.คลายล็อกกิจการ เปิดนั่งกินในร้าน 50% “ผู้ใช้-ผู้ให้บริการ”ต้องทำตามเกณฑ์ “โควิดฟรี”



  • คนใช้บริการฉีดวัคซีนครบ
  • ติดเชื้อหายใน 1-3 เดือน
  • ผลตรวจATKเป็นลบ

วันที่ 26 ส.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเสนอมาตรการเพื่อเปิดบางกิจการ ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,501 ราย รักษาหาย 20,606 ราย เสียชีวิต 229 ราย โดยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันของติดเชื้ออยู่ที่ 18,716 ราย และเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังของการเสียชีวิตคือ 247 ราย ส่วนภาพรวมหลังล็อกดาวน์มา 4 สัปดาห์กว่า ทำให้ผู้ลดติดเชื้อลดลง 20-25% ทั้งนี้ต้องขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือปฏิบัติไม่ให้แพร่ระบาดรุนแรง เรากำลังเริ่มลดลงเล็กน้อย

ขณะที่อัตราเสียชีวิตยังสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม 607 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค ทำให้การตายค่อนข้างสูงในแต่ละวัน แต่สามารถลดได้โดยเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งไทยกำลังเร่งฉีดวัคซีนอยู่ โดยมีแค่กทม.เท่านั้นที่ฉีดผู้สูงอายุได้ตามเป้าหมายกว่า 90% ส่วนต่างจังหวัดอัตรายังต่ำ จึงต้องเร่งฉีดเพื่อกดการเสียชีวิตลงให้ลงมาอยู่ในประสิทธิผลการล็อกดาวน์ลดติดเชื้อ 25% ให้ได้

ทั้งนี้สธ.จะเสนอมาตรการต่อ ศบค.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เพื่อให้กิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงน้อยและมีความสำคัญดำเนินกิจการได้และต้องลดความเสี่ยงด้วย เช่น ร้านอาหาร กิจการกลางแจ้ง และการเดินทาง น โดยจะต้องมีมาตรการต่างๆที่สธ.เข้าไปดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยง ลการแพร่และติดเชื้อ

สำหรับมาตรการสำคัญ มีดังนี้ 1. Universal Prevention for COVID-19 หรือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล คือ การป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา ทั้งบุคลากรการแพทย์และประชาชนทั่วไป โดยมีมาตรการเสริมต่างๆ ร่วมกับการออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น กลุ่มเสี่ยงก็ให้เลี่ยงออกจากบ้าน เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดผิวสัมผัส ทานของร้อน แยกของใช้ หากมีความเสี่ยงก็ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เช่น ชุดตรวจเร็วแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK)

2.มาตรการที่จะเสนอในสถานประกอบการ ทาง สธ. ยกระดับให้กิจการดำเนินการได้ เรียกว่า COVID Free Program ร่วมกับ Universal Prevention โดยจะนำไปใช้กับสถานประกอบการ หรือสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ส่วนสถานประกอบการ ต้องมีการจัดระยะห่าง มีระบบระบายอากาศ ไม่ให้อากาศนิ่ง ซึ่งจะอยู่ในสถานประกอบการที่เป็นห้องปรับอากาศ โดยต้องจัดระบบนี้ และ 2. ส่วนบุคคล แบ่งออกเป็นผู้ให้บริการ ต้องเป็น โควิดฟรี(COVID Free) คือ 1. ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 2. เคยติดเชื้อและพ้นระยะการแพร่เชื้อ คือ หลังติดเชื้อมาแล้วประมาณ 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งถือว่ามีภูมิคุ้มกันยังสูง หรือ 3. ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อ ก็ต้องมีผลการตรวจหาโควิด-19 ด้วย RT-PCR หรือ ATK เป็นลบ ผู้ที่ความเสี่ยงมากให้ตรวจทุก 3 วัน หากเสี่ยงน้อยทุก 7 วัน หากทำได้ก็สามารถให้บริการได้ ก็ประกาศได้ว่า “ผู้ให้บริการทุกคนเป็นโควิดฟรี”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ผู้ใช้บริการหรือลูกค้า ในระยะถัดไปก็ต้องปราศจากเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน คือ ต้องรับวัคซีน 2 เข็ม ต่อไปอาจมีบัตร หรือดิจิทัลการ์ด ว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว หรือใบรับรองการฉีดวัคซีน 2 เข็มในหมอพร้อม หรือหากไม่มีก็ขอใบรับรองจากหน่วยบริการฉีดวัคซีนได้ หรืออีกส่วนอาจใช้บัตรเหลืองหรือบัตรชั่วคราว สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ก็สามารถขอใบรับรองจากแพทย์ได้ ซึ่งเป็นระยะที่มีภูมิคุ้มกัน แต่หากพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อไป ขณะเดียวกัน หากไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่เคยติดเชื้อ ก็ต้องเป็นโควิดฟรี ก็จะเหมือนกับผู้ประกอบการคือ มีการตรวจโควิดเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งอาจตรวจเองที่บ้าน และมีการรับรองกัน หรือในอนาคตทางสถานประกอบการจะมีชุดนี้เตรียมไว้ให้

สำหรับข้อเสนอผ่อนคลายร้านอาหารที่กล่าวมาจะเป็นในส่วนของระบบปิด คือ มีห้องปรับอากาศ แต่ขอย้ำว่า “เรื่องนี้เราเน้นความสมัครใจ โดยร้านอาหารจะเปิดให้นั่งรับประทานได้ 50% เปิดได้ถึง 2 ทุ่ม ส่วนกิจการต่างๆที่จะผ่อนคลายด้วยก็จะมีมาตรการมารองรับเพิ่มเติม โดยขอให้ติดตามรายละเอียดในการประชุมศบค.พรุ่งนี้”

ทั้งนี้เมื่อถามว่าหากไม่มีใบรับรองต่างๆ รวมถึงผลตรวจ ATK จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากใครไม่มีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่มีการ์ดเหลือง ที่รับรองการติดเชื้อหลัง 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่มีผลตรวจ ATK นั้นก็สามารถสั่งกลับไปรับประทานที่บ้านไป ต้องเตรียมมา ต้องมีความพร้อม ในยุคถัดไปต้องเป็นแบบนี้ และแน่นอนว่าถ้าจะให้มีมาตรการเหล่านี้สถานประกอบการก็ต้องมี ATK ให้ด้วย เหมือนที่สนามบินที่จะมีการทำ Covid Free Travel การท่าจะมีการทำและจัดหา ATK แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายให้ด้วย แต่ไม่มาก ตั้งใจว่าไม่ให้เกิน 100 บาท หรือประมาณ 70-80 บาท ถ้าไม่ได้ตรวจมาจากที่บ้าน ก็ไปทำที่สถานประกอบกิจการได้ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองให้ สามารถรับรองได้ 7 วัน ไม่ว่าจะเข้าร้านอาหาร หรือสถานประกอบการเพื่อให้มีความมั่นใจ ทั้งนี้อนาคตเมื่อมี ATK เข้ามาในประเทศมากพอประชาชนเข้าถึงได้ระบบนี้จะได้จัดการได้อย่างเต็มที่

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK ผู้ใช้บริการ หรือผู้ให้บริการจะเป็นผู้รับผิดชอบ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องดูก่อนว่าเราจะทำได้ประมาณไหน อย่างในส่วนของภาคราชการนั้น ให้มีการตรวจด้วย ATK และเบิกได้ และออกบัตรเหลืองรับรองกันเองได้ ส่วนประชาชนทำได้ 2 วิธี คือ ทางแรกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หากมีการจัดซื้อแล้วเสร็จ 8.5 ล้านชุดก็จะแจกจ่ายประชาชนได้ อีกส่วนคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงหาซื้อได้

ขณะที่สถานประกอบการจะมีการนำเข้ามาเช่นกันซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่อาจจะมีการซื้อหา ATK ที่ผ่านอย. เข้ามาใช้ เพื่อเป็นความร่วมมือในการป้องกันโรคต่อไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายถือเป็นภาระของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นแนวทางที่จะแนะนำให้ปฏิบัติต่อไป