รุมฟ้อง “กูเกิล” จำกัดการแข่งขันทางธุรกิจ



  • อัยการ 37 รัฐของสหรัฐฯยื่นฟ้องร้อง “กูเกิล”
  • บังคับผู้พัฒนาเผยแพร่แอปฯในเพลย์สโตร์เท่านั้น
  • ห้ามเผยแพร่ในแอปสโตร์ของคู่แข่งทำธุรกิจอื่นเสียหาย

ตัวแทนและอัยการรัฐจาก 37 รัฐของสหรัฐฯร่วมกันยื่นฟ้อง “กูเกิล” ของบริษัท อัลฟาเบท เหตุการทำงานของกูเกิลในการดูแลแอปสโตร์สำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์ เป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด

การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นหนึ่งของฟ้องร้องจำนวนมากที่กูเกิลเผชิญในสหรัฐฯ หลังผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหลายราย ร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการเพลย์สโตร์ (Play Store) ของกูเกิล ที่บังคับให้แอปฯบางรายการต้องใช้เครื่องมือชำระเงินของกูเกิลเท่านั้น ซึ่งจะทำให้กูเกิลได้รับค่าธรรมเนียมมากถึง 30% ของยอดขายสินค้าดิจิทัล
ในสำนวนฟ้องระบุว่า “เพื่อให้สามารถเก็บค่าธรรมเนียมและคงไว้ซึ่งค่าธรรมเนียมที่สูงระดับนี้ กูเกิลได้ใช้กลยุทธ์จำกัดการแข่งขัน เพื่อตัดโอกาส และขัดขวางการแข่งขันในการเผยแพร่แอปฯแอนดรอยด์” และ “กูเกิลไม่เพียงแต่โจมตีแอปสโตร์ที่เป็นคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังดำเนินการต่างๆ เพื่อทำให้ผู้พัฒนาแอปฯไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเผยแพร่แอปฯของตนผ่านทางเพลย์สโตร์ของกูเกิล”

ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ย.63 กูเกิลประกาศ จะยกระดับความเข้มงวดในการบังคับใช้นโยบายนี้ ส่งผลให้ผู้พัฒนาแอปจำนวนมาก วิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าว และขณะนี้ เพลย์สโตร์ของกูเกิล ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ใช้งานมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันของบริษัทแอมะซอน, ซัมซุง และหัวเว่ยเป็นอย่างมาก 

การฟ้องร้องครั้งนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากเมแกน ดิมูซิโอ กรรมการบริหารของ Coalition for App Fairness ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของบริษัทอย่างแมทช์ กรุ๊ป และสปอติฟาย ที่คัดค้านกฎบางประการของเพลย์สโตร์ โดยดิมูซิโอ กล่าวว่า “การขัดขวางไม่ให้เกิดการแข่งขัน เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม อีกทั้งยังจำกัดอิสรภาพของผู้บริโภค ทำให้ราคาสูงขึ้น และจำกัดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างผู้พัฒนาแอปฯและผู้บริโภค”