รถ EV มาแรง! สรรพสามิตเซ็น MOU ไทยฮอนด้า ร่วมมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า คาดเริ่มจ่ายเงินสนับสนุนได้สิ้นปีนี้



  • เผยมาตรการหนุนอีวีกระแสดี คาดฮอนด้ารถยนต์ ตบเท้าร่วมมาตรการเร็วๆนี้
  • ชี้ล่าสุดยอดจองซื้อรถอีวี มีแล้วกว่า 2.5 หมื่นคัน
  • เผยผู้ได้รับสิทธิขอรับการสนับสนุน ขณะนี้มีทั้งสิ้นประมาณ 500 คัน คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ช่วงปลายปี 65

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า วันนี้ (25 ต.ค.65) กรมสรรพสามิตได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระหว่างกรมสรรพสามิต กับ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัดบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า 

ทั้งนี้ เมื่อนับรวม บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กับผู้ประกอบการรายอื่น ถือว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลแล้วจำนวน 10 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตรถยนต์ ไฟฟ้าจำนวน 7 ราย และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 3 ราย 

สำหรับค่ายรถยนต์ฮอนด้าที่ผลิตรถยานยนต์ไฟฟ้านั้น คาดว่า จะเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลในเร็วๆนี้ ส่วนค่ายอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการค้า และความพร้อมในการผลิตของแต่ละค่าย

นายเอกนิติ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลนั้น ก็จะทยอยเข้าร่วมโครงการเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของฮอนด้าที่ผลิตรถยนต์ก็คาดว่า จะเข้าร่วมเร็วๆนี้ และในปลายเดือน ต.ค.นี้ ก็จะมีผู้ประกอบการค่ายยานยนต์เนต้าจากประเทศจีน เข้ามาร่วมลงนามกับกรมสรรพสามิตอีกด้วย

สำหรับในส่วนยอดจองรถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐบาลนั้นขณะนี้ ได้รับรายงานว่า มียอดจองซื้อแล้วทั้งหมดประมาณ 25,000 คัน ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเริ่มทยอยจ่ายเงินอุดหนุนเป็นรายไตรมาส ซึ่งจะเริ่มจ่ายได้ในช่วงปลายปี 65 นี้

“ตอนนี้ทางกรมฯ กำลังทำเรื่องขอเบิกจ่ายเงินจากกรมบัญชีกลาง เพื่อนำไปสนับสนุนผู้ที่ได้รับสิทธิจากมาตรการ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องเป็นรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนเรียบร้อย และมีเอกสารมายืนยันกับทางกรมฯ ซึ่งขณะนี้ มียอดที่ขอรับการสนับสนุนมาทั้งสิ้นประมาณ 500 คัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ในช่วงปลายปีนี้” นายเอกนิติ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 25,000 คันนั้น ถือว่า เป็นยอดจองที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่สนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปีแรก ซึ่งคาดว่า ยอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ยอดจองที่สูง แต่การส่งมอบยังล่าช้า เพราะค่ายผู้ผลิตหลายประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิปประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ขาดแคลนทั่วโลก

ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาทที่กรมสรรพสามิตขอไว้นั้น เชื่อว่าจะเพียงพอสำหรับปีงบประมาณ 2566 นี้ ส่วนปีต่อไป ทางรัฐบาลก็จะสนับสนุนงบประมาณ ต่อเนื่องจนครบอายุมาตรการจำนวน 4 ปี หรือสิ้นสุดโครงการในปี 2568 โดยวงเงินสูงสุดที่อุดหนุนอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาทต่อคัน