

- ยันจัดเก็บรายได้ตามเป้า 530,000ล้านบาทแน่นอน
- กรมศุลกากร ยันเป้าจัดเก็บตามเดิม
- เร่งสรุปตัวเลขนำเข้า-ส่งออกให้เร็วขึ้น
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรณีผู้ประกอบการสายการบินในประเทศขอต่อเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินสำหรับสายการบิน ที่ปรับจาก 20 สตางค์ เหลือ 4.726 บาท หลังสิ้นสุดการช่วยเหลือเมื่อเดือนก.ย.ว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะลดภาษีให้ต่อหรือไม่ โดยจะต้องนำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน สถานการณ์ท่องเที่ยว และมาตรการที่รัฐบาลกำลังออกมาช่วยเหลือด้วย เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของสายการบิน เป็นต้น
“การลดภาษีน้ำมัน เป็นหนึ่งข้อเสนอที่สายการบินที่ขอเข้ามาทางนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราจะให้หรือไม่นั้น จะต้องดูตามความเหมาะสม เพราะการใช้มาตรการทางภาษีจะต้องใช้ความระมัดระวัง”
ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีบุหรี่ ภาษีเบียร์ 0% เป็นต้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพราะขณะนี้จะต้องให้ความสำคัญในการจัดเก็บรายได้ที่ไม่กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ๆ จึงยังคงไม่เกิดขึ้น
สำหรับปี 2564 นี้กรมสรรพสามิตได้รับจัดเก็บเป้ารายได้ตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 630,000ล้านบาท แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับเป้าลดลงมาอยู่ที่ 530,000ล้านบาท ซึ่งการปรับเป้ารายได้ลดลงมาถึง 100,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งกรมมั่นใจว่าจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่วางไว้ และไม่ต่ำกว่า 530,000 ล้านบาทแน่นอน
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรได้รับเป้าจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่จำนวน 104,800ล้านบาท ซึ่งในเดือนต.ค.นี้กระทรวงการคลังเตรียมเรียกหน่วยงานด้านภาษีเพื่อปรับเป้ารายได้ในปีนี้ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอีกครั้ง ส่วนเรื่องการบริโภคในประเทศถ้าเทียบตัวเลขกับปีงบประมาณ 2563 จะเริ่มเห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว
นอกจากนี้เพื่อให้การทำงานของกรมสอดคล้องกับหน่วยงานอื่นในกระทรวง กรมศุลกากรจะเร่งสรุปข้อมูลข้อมูลที่ศุลกากรรับผิดชอบ คือ ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับนำเข้า-ส่งออกสินค้ารายเดือนให้รวดเร็วขึ้น เพื่อที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ จะสามารถนำข้อมูลส่วนนี้เป็นไปประเมินเศรษฐกิจได้แม่นยำขึ้น
“เดิมตัวเลขนำเข้าส่งออกสินค้า กรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 2 อาทิตย์ เช่น เดือนต.ค. กรมศุลกากรจะส่งข้อมูลได้กลางเดือนพ.ย. เนื่องจากต้องรอตรวจสอบข้อมูลสินค้าทั้งหมดก่อน ซึ่งใช้เวลานาน เป็นต้น ในขณะที่กรมธนารักษ์และกรมบัญชีกลาง ใช้เวลาส่งข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ ภายใน 5 วันเท่านั้น ดังนั้นกรมศุลกากรจึงจะพยายามปรับเปลี่ยนการสรุปตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกสินค้าแต่ละเดือนให้รวดเร็วขึ้น”