

- หลังผลสำรวจพบคนไทยซื้อสินค้าชุมชน 10 ครั้งต่อปี
- แต่ยังต้องปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐานให้ยอมรับระดับสากล
- หวังสร้างแกร่งเศรษฐกิจฐานราก-เหตุมูลค่าตลาดมหาศาล
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยถึงว่า ในเดือนก.พ.64 สนค.ได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคสินค้าชุมชน ตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่มุ่งเน้นสนับสนุนสินค้าชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก โดยผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่สนใจและอุดหนุนสินค้าชุมชน ซึ่งจะช่วยให้สินค้าชุมชนเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
สำหรับการสำรวจดังกล่าว สนค.ได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 8,031 คนทั่วประเทศ พบว่า ผู้ตอบมากถึง 72.51% ตอบเคยซื้อสินค้าชุมชน ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่รู้จักสินค้าชุมชนเป็นอย่างดี และสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยประเภทที่นิยมซื้อ ได้แก่ ของกิน รองลงมา ของใช้ และของที่ระลึก/ประดับตกแต่ง โดยเหตุผลหลักที่ซื้อสินค้าชุมชน เพราะราคาย่อมเยา ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ กระจายรายได้ให้กับชุมชน และสินค้ามีคุณภาพ มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องที่ และมีบรรจุภัณฑ์สวยงาม
ส่วนเมื่อถามถึงความถี่ในการซื้อ และวงเงินที่ซื้อ ผู้ตอบส่วนใหญ่ บอกซื้อไม่เกิน 10 ครั้งต่อปี และซื้อครั้งละไม่เกิน 500 บาท โดยข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานรัฐ นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ และพนักงานบริษัท
มีแนวโน้มใช้จ่ายมากกว่าอาชีพอื่น ซึ่งในช่วงสถานการณ์ปกติ มูลค่าการซื้อสินค้าชุมชนอยู่ที่ปีละประมาณ 340,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ขณะที่ช่องทางการซื้อนั้น ส่วนใหญ่ซื้อจากร้านค้าชุมชน/โชว์ห่วย/ศูนย์โอทอป ตามด้วยร้านสะดวกซื้อ และงานแสดงสินค้า ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โอกาสการซื้อสินค้าชุมชนมักควบคู่ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวในชุมชนนั้นเป็นหลัก ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ส่วนความพึงพอใจของสินค้าชุมชน ผู้ตอบส่วนใหญ่พึงพอใจ แต่มีบางส่วนที่ยังไม่พอใจ เพราะเห็นว่า ต้องมีการพัฒนาการตลาด เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาคุณภาพสินค้า เช่น ความสะอาด รสชาติ รูปแบบสินค้า ประโยชน์การใช้งาน ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และมีการขอมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องหมายฮาลาล สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เป็นต้น เพื่อให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถแข่งขันกับสินค้าอุตสาหกรรมและส่งออกได้
“กระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาสินค้าชุมชนในทุกภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก และเป็นเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ รวมถึงจะขยายโอกาสทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตและบริการอื่นๆ เพื่อให้สินค้าชุมชนมีความเข้มแข็ง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง“
