พาณิชย์รับหน้าเสื่อเจรจาปรับค่าเคงานภาครัฐ



  • หลังผู้รับเหมาร้องรัฐจ่ายค่าเคชดเชยจากราคาเหล็กพุ่ง
  • พร้อมขอผู้ค้าเหล็กตรึงราคา-ปรับราคาขายตามต้นทุน
  • ลั่นพบผู้ค้าเอาเปรียบดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องการให้ภาครัฐทบทวนแนวทางการกำหนดค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่าเค) ของงานก่อสร้างภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้ว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐ ต้องการให้รัฐจ่ายค่าเค เพื่อชดเชยให้กับผู้รับเหมา แม้ว่าค่าเค ณ วันที่หน่วยงานภาครัฐ เจ้าของโครงการจะต้องจ่ายให้ผู้รับเหมา สูงขึ้นไม่ถึง 4% ของค่าเค ณ วันเปิดซองประมูลโครงการก่อสร้าง ตามที่กำหนดไว้ก็ตาม เพราะขณะนี้ ราคาเหล็กปรับขึ้นสูงมากกว่าราคาเหล็ก ที่นำมาคำนวณค่าเค ณ วันเปิดซองประมูลโครงการ ดังนั้น ผู้รับเหมาจึงต้องได้รับการชดเชยจากภาครัฐ

“ผู้รับเหมารายกลาง รายเล็ก ได้รับผลกระทบมาก เพราะไม่สามารถซื้อเหล็กราคาถูกจากผู้ผลิตได้ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าเคให้ โดยไม่ต้องให้ค่าเค ณ วันที่หน่วยงานภาครัฐจ่ายให้ สูงเกิน 4% ตามกำหนดก็ได้ แค่ขึ้น 2% หรือ 3% ก็อยากให้จ่ายชดเชยให้แล้ว สำหรับค่าเค มี 2 อย่างคือ ค่าเค ณ วันเปิดซอง และค่าเค ณ วันที่หน่วยงานภาครัฐต้องจ่ายให้ผู้รับเหมา ถ้าราคาเหล็ก และวัสดุก่อสร้าง ณ วันที่รัฐจ่ายค่าเคให้สูงกว่าราคา ณ วันที่นำมาคำนวณในช่วงเปิดซอง รัฐก็จะจ่ายให้ผู้รับเหมา แต่ได้กำหนดว่า ถ้าเกิน 4% ของค่าเค ณ วันเปิดซอง จึงจะจ่ายชดเชยให้ เพราะถือว่า ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจริง”

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว กรมได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันในหลักการและเหตุผลของการกำหนดค่าเค ที่เป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้รับเหมาที่รับงานจากภาครัฐ ที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควรหากราคาเหล็ก และวัสกุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นมาก ตลอดจนรับทราบถึงวิธีการคำนวณและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อค่าเค

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเร่องการกำหนดราคากลางของงานก่อสร้างภาครัฐด้วย ส่วนหน่วยงานภาครัฐ จะทบทวนสูตรการคำนวณค่าเค หรือกำหนดราคากลางใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่นั้น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย จะจัดทำรายละเอียดข้อมูลแนวทางการกำหนดค่าเค และการคำนวณราคากลางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเสนอให้สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางพิจารณาต่อไป

ซึ่งในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ คือ กรมได้ขอให้ผู้ผลิตเหล็กตรึงราคาจำหน่าย ไม่ให้ปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง 

ร้อยตรีจักรา กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นว่า กรม และกรมการค้าต่างประเทศ ได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ผลิตเหล็ก จำนวน 7 รายแล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ คือ กรมได้ขอให้ผู้ผลิตเหล็กตรึงราคาจำหน่าย หรือปรับขึ้นไม่สูงเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ได้เชื่อมโยงให้กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างสั่งซื้อเหล็กจากผู้ผลิตเหล็กโดยตรงเพื่อลดต้นทุนด้านราคาลงส่วนหนึ่ง


“จากการส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ พบว่า ผู้ค้าเหล็กให้ความร่วมมือตรึงราคา หรือปรับขึ้นราคาไม่เกินต้นทุนที่แท้จริง อยางไรก็ตาม กรมจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง หรือขายราคาสูงเกินจริง ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบทางการค้า แจ้งได้ที่สายด่วน โทร.1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด”