“ผยง” ชี้ NPL – หนี้ครัวเรือนไทย มีสัญญาณน่าห่วง บวกกับสถานการณ์โควิด มีส่วนสร้างแรงเฉื่อยทางเศรษฐกิจไทย



  • ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 65 อยู่ที่ 3-4.5%
  • เผยปีนี้หลายปัจจัย สร้างความท้าทายให้ธนาคารพาณิชย์
  • ชี้ “นอนแบงก์” เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.พ.65) ภายในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2565 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ก้าวสู่ปีที่ 44 ในช่วงเสวนาหัวข้อเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจไทย ไปทางไหน? หลังวิกฤตโควิด-19 นายผยง ศรีวณิชประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาที่ทางสมาคมธนาคารไทยให้ความสำคัญ และต้องจับตามองคือเรื่องของ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่งอย่างมากในปัจจุบัน กำลังในการผ่อนชำระหนี้ของผู้กู้ลดน้อยลง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนที่ทำให้เป็นเช่นนี้ ก็เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็ส่งผลสร้างแรงเฉื่อยในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายผยง กล่าวต่อว่า จากการประชุมร่วมของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ได้ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 65 อยู่ที่ 3-4.5% ซึ่งก็มองว่าต้องฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 64 ผลจากภาครัฐมีการออกมาตรการที่ดูแลด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาคการส่งออกก็มีทิศทางที่ดี เพราะความต้องการในแต่ละประเทศก็มีการฟื้นตัว หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 

ด้านการท่องเที่ยว หลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีผลกระทบชัดเจน ยอดนักท่องเที่ยวลดวูบ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็เร่งออกมาตรการมากระตุ้น หลังมีการประกาศปลดล็อกประเทศ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือระบบเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งก็ต้องมาดูว่าทางสมาคมฯ จะสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถยืนหยัด ซึ่งกลุ่มนี้ต่างมีส่วนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจเช่นกัน

ทั้งนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ความท้าทายให้ปี 65 ที่ต้องเผชิญ ก็มีทั้งปัจจัยภายในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงเป็นเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทในไทยได้กำหนดในเรื่องนี้เป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กร และลูกค้า หันมามองหาและให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น 

ด้านความเหลื่อมล้ำ และความเปราะบางของครัวเรือนไทย ซึ่งในจุดนี้ก็เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขให้ได้ ทำให้ผู้กู้ในทุกระดับเข้าถึงแหล่งทุนที่เท่าเทียมกัน รวมถึงหาวิธีแก้ปัญหาในเรื่องหนี้ครัวเรือน ทำอย่างไรให้สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่เพิ่มหนี้

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการที่สังคมไทยได้เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) การให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยี ให้คนกลุ่มเข้าถึงสังคมออนไลน์ แบงก์กิ้ง ซึ่งก็ต้องปรับพฤติกรรมการทำธุรกรรม ให้คนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ทันโลกที่เปลี่ยนไป อีกทั้งปัจจุบันหลายครอบครัว เริ่มนิยมไม่มีบุตรกัน ก็ส่งผลให้ในอนาคตก็เกิดคนเด็กและวัยทำงาน ก็จะน้อยลงอาจมีผลต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจุดนี้ภาครัฐก็ต้องหามาตรการมาส่งเสริม 

รวมถึงด้านของทักษะแรงงานที่ปรับไม่ทันกระแสโลก ในจุดนี้ก็หมายถึงการไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ขาดทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ก็มีส่วนในเรื่องของฐานรายได้ที่ไม่เพิ่ม ติดกับดักในเรื่องค่าแรง สิ่งนี้ก็ต้องปฏิรูปเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับกระบวนการผลิตป้อนสู่ตลาดใหม่ๆ ที่เป็นต้องการของโลกอนาคต 

“ปัจจุบันการแข่งขันของภาคธุรกิจธนาคาร ถือว่าแข่งขันกันสูง ซี่งก็มีในส่วนของกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ ก้าวมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันที่สูงเพิ่มไปอีก” นายผยง กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ภาคการเงินมีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ปรับโครงสร้างองค์กร ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่หมุนเปลี่ยนตลอดเวลา รวมถึงนำเทคโนโลยีมาปรับเพื่อยกระดับการให้บริการ ทั้งระบบการชำระเงิน การปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น รวมถึงที่ต้องจับตาตอนนี้คือเรื่องความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย