ปี 64 ส่งออกไทยฟื้นตัวแน่ตามเศรษฐกิจ-การค้าโลก



  • สนค.แนะเจาะ 3 กลุ่มตลาดที่มีศักยภาพสูง-ปานกลาง 
  • เร่งรักษาตลาด-เจรจาทำเอฟทีเอขยายโอกาสการค้า-ลงทุน 
  • หลังพบขีดแข่งขันลดเมื่อเทียบคู่แข่ง-เสียสิทธิประโยชน์หลายสินค้า 

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า 100 ประเทศจากทุกภูมิภาค และนำประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงมาคัดเลือกหาประเทศคู่ค้าที่ไทยควรมีนโยบายขยายความสัมพันธ์ทางการค้า หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ที่ไทยต้องวางแผนในการเจาะตลาด เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในปี 64 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 

สำหรับกลุ่มแรก มีศักยภาพการนำเข้าสูง ความต้องการสินค้านำเข้าเป็นสินค้าเดียวกับที่ไทยส่งออกหลายรายการ และไทยส่งออกไปยังประเทศนั้นได้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศคู่ค้าแล้ว ซึ่งไทยต้องรักษาฐานลูกค้าและสร้างความจงรักภักดีต่อสินค้าไทย และหากสามารถเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อได้ จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง ได้แก่ อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) ยุโรปตะวันตก (เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส) โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย 

กลุ่มที่ 2 มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นในระดับปานกลาง พัฒนาให้เป็นประเทศคู่ค้าที่มีการค้าในระดับสูงได้ โดยไทยต้องมุ่งทำตลาดเชิงรุก เจรจาแก้ไขปัญหาและอุปสรรค หรือหากเจรจาจัดทำเอฟทีเอได้ จะทำให้ไทยมีแต้มต่อหรือได้รับประโยชน์มากขึ้น ได้แก่ ประเทศในยุโรปเหนือหรือสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์) ยุโรปตะวันออก (สโลวีเนีย เช็ก ออสเตรีย ฮังการี โปแลนด์) และบางประเทศตะวันออกกลาง (กาตาร์ และอิสราเอล) และกลุ่มที่ 3 มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นน้อย ไทยควรเร่งศึกษาตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ได้แก่ ไอซ์แลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และคาซัคสถาน 

สำหรับการส่งออกในปี 64 มีแนวโน้มดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น, นโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ มีแนวโน้มผ่อนคลายความตึงเครียดและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ-ยุโรป ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 ระลอก 2, นโยบายของนายไบเดน อาจกระทบการส่งออกสินค้าไทยบางรายการ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 

นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงจากสินค้าส่งออกของไทยกระจุกตัว อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ฟื้นตัวช้า เช่น รถยนต์ และแนวโน้มความต้องการเครื่องยนต์สันดาปลดลง สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลงเทียบกับคู่แข่ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยช้ากว่าคู่แข่ง ขาดการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมใหม่ทางการค้าหลังไวรัสโควิด-19 เสียเปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้นในสินค้าศักยภาพเดิม เป็นต้น  

สำหรับสินค้าไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สินค้าอาหาร 2.สินค้าสำหรับใช้ทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนและฟุ่มเฟือย มีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัวของการผลิตและการบริโภค เช่น ยานยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น