

- แม้เกิดลานีญ่า ที่ทำให้อากาศเย็นแต่ไม่ช่วยอะไร
- ล็อกดาวน์ช่วยลดโลกร้อน แต่หลังปลดล็อกโลกอาการหนัก
- อาร์กติกน้ำแข็งละลายปริมาณมหาศาล-อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (The World Meteorological Organization : WMO) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสภาพอากาศเมื่อวันพุธที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค.63 จากหน่วยงาน และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 10 แห่ง ระบุว่า ปี 63 จะเป็น 1 ใน 3 ปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรวมถึงปี 59 และปี 62 โดยอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส สูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรม
ในรายงานดังกล่าว ระบุว่า เป็นที่น่ากังวลว่า ในปี 63 สภาพอากาศร้อนเหมือนเช่นปกติ ทั้งๆ ที่เกิดปรากฎการณ์ลานีญ่า ที่ทำให้อากาศเย็นลง มาตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา และอากาศเย็นลงขึ้นอีกในเดือนต.ค. ซึ่งทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของลม ความกดอากาศ และปริมาณน้ำฝน แม้ว่าลานีญ่า ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่มีผลทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง แต่การลดลงของอุณหภูมิจากผลของลานีญ่า แทบไม่ได้ทำให้โลก ที่ร้อนระอุจากก๊าซเรือนกระจก เย็นลงได้เลย
เพตเทอรี่ ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปีที่โลกอุ่นขึ้นจนผิดปกติ อย่างในปี 59 เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดปรากฎการณ์เอลนีญ่า และทำให้อุณหภูมิเหนือระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อุหภูมิโลกสูงขึ้น แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีอีกแล้ว “แม้ปีนี้เกิดล่านีญ่า แต่อุณหภูมิโลกในปีนี้ใกล้เคียงกับปี 59 ที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์” ทาลาสกล่าว
ในรายงานยังระบุอีกว่า ระหว่างปี 54-63 จะเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยนับตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นมาจนถึงปี 63 จะเป็นช่วง 6 ปีที่ร้อนที่สุด ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงในช่วงที่ทั่วโลกล็อกดาวน์ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทาลาส กล่าวว่า ขณะนี้ มีโอกาส 1 ใน 5 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรม ที่ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 67 ซึ่งอยู่ในระดับวิกฤติ ตามที่กำหนดในความตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายลดภาวะโลกร้อน โดยภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลกในปี 63 เช่น คลื่นความร้อนจัด ไฟไหม้ป่า ไปจนถึงน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกที่รุนแรงทุบสถิติอีก “ดังนั้น ในปี 63 จึงเป็นปีที่พิเศษมากอีกปีหนึ่งสำหรับสภาพอากาศของเรา”
โดยปีที่ผ่านมา และในช่วงต้นปีนี้ ออสเตรเลียต้องเผชิญกับไฟไหม้ป่าที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากผลวิจัยพบว่าวิกฤติของภาวะโลกร้อน มีโอกาสทำให้เกิดไฟป่าได้อย่างน้อย 30% รัฐสภาของออสเตรเลีย คาดว่า คนออสเตรเลียอย่างน้อย 33 คน และสัตว์ป่านับล้านตัวตายในกองเพลิง และยังมีชาวออสเตรเลียอีกนับร้อยคน เสียชีวิตจากควันไฟป่า ขณะที่ภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ไฟป่าทำให้ชาวอเมริกัน 43 คนเสียชีวิต ส่วนแพนทานัล (Pantanal) พื้นที่ชุ่มน้ำใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ในอเมริกาใต้ เกิดไฟป่านาน 5 เดือน
นักวิทยาศาสตร์ด้านอากาศ เตือนว่า ในปีนี้ พายุเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และพายุไซโคลน ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะรุนแรงมากขึ้นเพราะผลของสภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ที่สำคัญ มหาสมุทรทั่วโลกยังคงอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะน้ำมีมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นผิวโลก จึงดูดซับความร้อนส่วนใหญ่ของโลกไว้ ตามรายงานของ WMO ระบุว่า ในปีนี้ มหาสมุทรของโลกมากกว่า 80% เกิดคลื่นความร้อนสมุทร (marine heatwave) ในบางช่วง
รายงานยังระบุอีกว่า อาร์กติก ซึ่งอยู่ในขั้วโลกเหนือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่สุด เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในเดือนก.ย.63 ก้อนน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมอาร์กติกละลายใกล้เคียงระดับต่ำสุดเมื่อปี 21 และขณะนี้ น้ำแข็งในกรีนแลนด์ ยังคงละลายในปริมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการละลายช้าลงกว่าปี 62
น้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นโลกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมสภาพอากาศของโลก เพราะพื้นผิวที่มีความสว่าง จะสะท้อนความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศได้ดี การละลายของน้ำแข็ง ทำให้มหาสมุทรมีสีเข้ม และดูดซับความร้อนได้มาก
รายงาน WMO กล่าวอีกว่า ปี 63 ยังเกิดคลื่นความร้อน ที่รุนแรงผิดปกติ โดยเฉพาะในเอเชียเหนือ อย่างแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย โดยบางส่วนของไซบีเรียเหนือ อุณหภูมิอยู่ที่ 5 องศาเซลเซียส หรืออุ่นกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่อเมริกาใต้ และยุโรป เกิดคลื่นความร้อน และเผชิญกับความแห้งแล้งยาวนาน
มีการบันทึกว่า อุณหภูมิของปีนี้ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยที่หุบเขามรณะ (Death Valley) ที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อุณหภูมิพุ่งไปถึง 54.4 องศาเซลเซียส สูงที่สุดในโลกอย่างน้อยในรอบ 80 ปี
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ บางพื้นที่ของโลกเกิดคลื่นความร้อน และความแห้งแล้ง แต่บางพื้นที่กลับเกิดน้ำท่วมหนักโดยในรายงาน ระบุว่า ในปีนี้ น้ำท่วมใหญ่ในอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน และเมียนมา คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2,000 คน