

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (30 พ.ย.64) เวลา 10.00 น. ตามเวลานครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นำคณะผู้แทนจะประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ เป็นวันที่ 2
ทั้งนี้การประชุมที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันนี้ มีวาระสำคัญอยู่ที่การแสดงจุดยืนของประเทศสมาชิก WHO ต่อการจัดทำสนธิสัญญา (Treaty) หรืออนุสัญญา (Convention) หรือข้อตกลง(agreement) หรือ ตราสารระหว่างประเทศประเภทอื่น (international instrument) ว่าด้วยการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เป็นผู้แทนในการกล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศไทย
โดยนายอนุทิน กล่าวต่อที่ประชุมฯว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลกโดยไม่แบ่งแยกพรมแดน ระบอบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทุกประเทศทั้งร่ำรวยหรือยากจน ต่างได้รับผลกระทบ

รวมถึงทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา ควรมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและภูมิปัญญาของตนเอง ซึ่งการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจจับและการจัดการเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นแบบอย่างที่ดีของแอฟริกาใต้ ในไม่ช้า ทั่วโลกจะมีความรู้ที่ดีขึ้นในการจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นายอนุทิน กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 แสดงถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างสิ้นเชิงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ซึ่งแนวคิดใหม่ที่สำคัญที่สุดคือการมีเครื่องมือที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในระดับสากลที่หนักแน่นขึ้น ที่จะทำให้ความสามารถในการตรวจจับ ป้องกัน และตอบโต้โรคระบาดของแต่ละประเทศและทั่วโลก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผ่านหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ บนพื้นฐานของการมีการมีส่วนร่วมทางสังคมและแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว