“บีอีเอ็ม-บีทีเอสอาร์” ยื่นซองชิงดำสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไร้เงาอิตาเลียนไทยคนร้องแก้เงื่อนไข



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 พ.ย. 63 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท โดยเมื่อเวลาประมาณ 10.50 น. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เดินทางมาถึง รฟม. รายแรกโดยมีรถตู้ 2  คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 6 คัน บรรทุกกล่องเอกสารประกวดราคาจำนวนกว่า 250 กล่อง  และลงทะเบียนยื่นเอกสารในเวลา 11.19 น. 

ทั้งนี้ BEM ได้ยื่นเอกสารประมูลรายเดียว ไม่ได้รวมกลุ่มกับรายใด ซึ่ง ผู้บริหารBEM ระบุ ว่า บริษัท มีความสามารถและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า BEM ได้ทำข้อเสนอในเงื่อนไขเดิมหรือ เงื่อนไขที่รฟม.ประกาศเอกสารเงื่อนไขการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ทางBEM ตอบสั้นๆ ว่า บริษัท  ได้ทำข้อเสนอที่ดีที่สุด ในการยื่นประมูลครั้งนี้ ส่วนกติกาหรือเงื่อนไขในการพิจารณา แบบใดนั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาล ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของบริษัท 

ต่อมาเวลา 13.30 น. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ  (มหาชน) หรือ BTSC บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ได้รวมกลุ่มในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)  เดินทางมาถึงพร้อมกับลงทะเบียนยื่นเอกสารลงทะเบียนเวลา 13.30 น. โดยใช้รถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 4 คัน บรรทุกกล่องเอกสารกว่า 400  กล่อง

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ  (มหาชน) หรือBTSC  กล่าวว่า ได้ยื่นประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในนาม กลุ่มบีเอสอาร์ ซึ่งได้ร่วมกัน 3 บริษัท คือ BTSC , บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือBTS  และ ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง  ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิมนั้น เนื่องจากยังมีกระบวนการภายในของบริษัท ฯ ทำให้ ยังไม่ได้ ร่วมยื่นประมูลครั้งนี้ แต่ทั้งนี้บริษัทราช กรุ๊ป  มีความประสงค์จะร่วมกับกลุ่มเราเหมือนเดิม 

นายสุระพงษ์ กล่าวต่อ ถึงการดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองว่า ขณะนี้ทางรฟม. ได้แจ้งปลบอร์ด รฟม. กลับมาที่ บีทีเอส แล้วว่า จะยังให้มีเงื่อนไข การชดเชยผลกระทบส่วนต่อขยายเข้าเมืองทอง กับ ต่อขยายไปเชื่อมรัชโยธิน  ของรถไฟฟ้าสายสีหลืองให้กับบริษัท บีอีเอ็ม ซึ่งในเงื่อนไขนี้ทาง บีทีเอส จะเสนอเข้าบอร์ด บีทีเอส ภายในเดือนนี้  ส่วนผลบอกจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องรอ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าหากบอร์ดมีมติออกมาว่าไม่รับเงื่อนไขของการชดเชยผลกระทบจากการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทางบีทีเอสก็คงจะต้องไม่มีการก่อสร้าง  

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ รฟม. ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกคำสั่งทุเลาการพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งใดๆ ซึ่งบริษัทได้ทำข้อเสนอในการประมูลครั้งนี้อย่างเต็มที่และดีที่สุด ตาม TOR กำหนด ส่วนเกณฑ์และวิธีการพิจารณายังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ในขณะนี้

สำหรับเอกชนที่ซื้อเอกสารเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ทั้งหมด 10  ราย  ได้แก่ 1. บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) 8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด 10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด