

- ทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)
- เผยจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่เกินกลางปี 2565
- พร้อมชี้แจงถึงการลดโทษผู้กระทำผิด เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของกระทรวงยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ธ.ค.64) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 20/2564 (ศบค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนิคมฯ จะนะ เพื่อเจรจากับชาวบ้าน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาล หวังให้ภาคใต้ของประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้น ประชาชนสามารถประกอบกิจการ/กิจกรรม
ทั้งนี้เมื่อขั้นตอนการดำเนินการมีปัญหาก็ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่ ให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงการทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉยและจะเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการขั้นตอนและกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถแทรกแซงได้โดยจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.)
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังตอบคำถามถึงกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดว่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกินกลางปี 2565 หากมีความพร้อม ซึ่งมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงสมัครไว้ตามระเบียบอยู่แล้วโดยประชาชนจะเป็นผู้เลือกผู้แทนมาทำงานตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเอง ที่สำคัญคือไม่ทุจริต และขอให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติมาแก้ไขปัญหา เพราะ กทม. เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ยังชี้แจงถึงการลดโทษผู้กระทำผิดว่า เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งบางเรื่องอาจไม่มีการกำหนดชัดเจน เช่น การกระทำผิดมากน้อยเพียงใดถึงจะเข้าเกณฑ์ทุจริต บางกรณีก็มีความแตกต่างกัน จึงอาจต้องให้มีการทบทวน เพราะหลักการเปลี่ยนแปลงไป หรือการแก้ไขกฎหมาย พรบ. แต่ยืนยันว่าทุกอย่างกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ และจะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย