บอกเลยงานในมือพรึบ! “ช.การช่าง” โชว์กำไรไตรมาส 3 ปี 63 ฟาดไป 774 ล้านบาท เล็งงานใหม่ปีหน้า 2 แสนล้าน



น.ส.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK  เปิดเผยถึงผลประกอบการในไตรมาส 3/2563 ว่า บริษัทมีรายได้ก่อสร้าง 3,798 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,528 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ก็ยังสามารถรักษาอัตรากำไรไว้ได้เป็นอย่างดี โดยมีกำไรสุทธิ 774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง1,100% จากไตรมาสที่แล้ว อัตรากำไรขั้นต้น 7.73% อัตรากำไรสุทธิ 17.10% 

ทั้งนี้สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ก็ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเขื้อโควิด-19 แต่ประการใด 

สุภามาส ตรีวิศวเวทย์

น.ส.สุภามาส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามสัญญาก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มูลค่า 4,041 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้เตรียมความพร้อมในการเข้าแข่งขันการประมูลราคาโครงการต่าง ๆ ในปีหน้า ซึ่งมั่นใจว่าจะมีงานเพิ่มเติมเข้ามาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท ที่ได้มีการยื่นประกวดราคาไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 

“เชื่อว่าจากที่บริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน การติดตั้งงานระบบ และพันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ที่มีประสบการณ์ในการบริหารการเดินรถมากว่า 16 ปี จะเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาคัดเลือกได้เป็นอย่างดี” 

ทั้งนี้สำหรับโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ช.การช่าง มีความเชื่อมั่นว่าจะมีอีกหลายโครงการที่มีความพร้อม สามารถเปิดประกวดราคาได้ในปี 2564 อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 100,000 ล้านบาทโครงการรถไฟทางคู่ จำนวน 3 สาย ได้แก่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ  สายบ้านไผ่ – นครพนม และสายขอนแก่น – หนองคาย รวมมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท  

รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางใน สปป.ลาว ที่บริษัทได้เข้าร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้เร็วๆนี้  ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยเสริมมูลค่างานในมือ (Backlog) ขึ้นมาอย่างน้อย 150,000-200,000 ล้านบาท ในปี2564    

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานของบริษัท ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) หลังจากได้ต่อสัมปทานทางด่วนอีก 15 ปี 8 เดือน จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น และกลับมาเป็นปกติแล้ว 

อีกทั้งในวันนี้ (14 พย. 2563) บริษัทได้มีพิธีเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย และสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง อีกด้วย

นอกจากนี้ในส่วนของบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) ผู้ผลิตน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศโดยมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคครัวเรือน ส่งผลให้ผลประกอบการยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจ่ายปันผลได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ  นอกจากนี้ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP)  โรงไฟฟ้าทุกแห่งมีแนวโน้มที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สามารถรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง ได้ครบอีกด้วย