

- หลังตรวจพบความเสี่ยงทั่วไป-ข้อบกพร่องร้ายแรง
- หวั่นเกิดผลข้างเคียงทั้งหลอมลดอักเสบ ปอดบวม
- แม้นักวิทยาศาสตร์รัสเซียอ้างประสิทธิภาพสูง 97.6%
คณะกรรมการ Anvisa ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของบราซิล ได้สั่งห้ามนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ป้องกันโควิด-19 ของรัสเซีย หลังจากเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของคณะกรรมการฯ กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยง และความบกพร่องที่ร้ายแรงของวัคซีน เมื่อพิจาณาจากข้อมูลด้านการรับรองความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพของวัคซีน
อานา แคโรลินา โมเรียรา มาริอาโน อารัวโจ ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจการด้านสาธารณสุขของ Anvisa กล่าวว่า หลังจากที่ได้พิจารณาเอกสารทั้งหมด รวมถึงข้อมูลที่รวบรวมได้ในระหว่างการตรวจสอบรายบุคคล และข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ พบว่า วัคซีนสปุตนิก วี มีความเสี่ยงโดยทั่วไป ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
ขณะที่นายกัสตาโว เมนเดส ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ด้านชีวภาพและเภสัชภัณฑ์ของ Anvisa ระบุว่า ประเด็นที่สำคัญคือ อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ที่ปรากฎจำนวนเพิ่มขึ้นในวัคซีนนั้น ถือเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงมาก โดยอะดีโนไวรัส เป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย เช่น เป็นหวัด ตาแดง เส้นเสียงอักเสบ หลอดลมส่วนปลายอักเสบ และปอดบวม
สำหรับอะดีโนไวรัส ถูกใช้เป็นไวรัสตัวนำสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ซึ่งอะดีโนไวรัส ที่เป็นเพียงไวรัสตัวนำนั้น ไม่ควรจะเพิ่มจำนวนได้อีก เนื่องจากถูกตัดแต่งทางพันธุกรรมแล้ว ดังนั้น การเพิ่มจำนวนของอะดีโนไวรัสในวัคซีนสปุตนิก วี จึงถือเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง
ทั้งนี้ แม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกจะให้การรับรองวัคซีนสปุตนิก วี และนักวิทยาศาสตร์รัสเซียก็อ้างว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 97.6% แต่หน่วยงานสาธารณสุขของบราซิล และสหภาพยุโรปยังไม่ให้การอนุมัติ เนื่องจากจำเป็นต้องมีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติม ทั้งในด้านผลการทดลอง และกระบวนการผลิต
สำหรับการสั่งห้ามนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วีมีขึ้น แม้ผู้ว่าการรัฐต่างๆ ในบราซิลได้ยื่นคำร้องให้ Anvisa ออกใบรับรองการนำเข้าวัคซีนดังกล่าว เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19
ที่ผ่านมานั้น โครงการฉีดวัคซีนของบราซิลเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้บราซิลกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในปีนี้ อีกทั้งยังทำให้ระบบสาธารณสุขของบราซิลใกล้เข้าสู่ภาวะล้มเหลว