บขส.ปรับตัว 360 องศาหันมาขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์จริงจังหวังปั้นรายได้เพิ่มขึ้น3เท่าตัวหนีขาดทุน



  • ประธานบอร์ด บขส. ฟิตหนัก!ปรับกลยุทธ์เพิ่มรายได้ บขส. หลังเริ่มประสบปัญหาขาดทุน-โควิดซัด
  • จ่อเสนอครม.ขอเปลี่ยนมติให้ทำกิจกรรมขนส่งสินค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ
  • ดอดคุยพันธมิตรสินค้าหวังขนส่งระยะยาวสร้างรายได้ มั่นใจ! ทำรายได้โต 3เท่า

นายสรพงศ์ ไพฑูย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีนโยบายให้ฝ่ายบริหาร บขส.ไปจัดทำแผนการตลาดใหม่โดยเน้นปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในการดำเนินธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบเต็มรูปแบบ จากเดิม บรรทุกสินค้าและพัสดุใต้ท้องรถ หรือที่นั่งที่เหลือขนเท่านั้น ให้ปรับมาทำธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ ใช้รถขนทั้งคันเป็นต้น มั่นใจหากทำตามแผนจะสร้างรายได้ให้ บขส. เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ในการดำเนินการนั้นตนในฐานะประธานบอร์ด บขส. หลังจากได้นโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ที่ให้สร้างรายได้ ก็ได้นำแนวทางมาปฎิบัติทันที ซึ่งจะมีการประชุมหารือกับบอร์ด บขส.ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ซึ่งก่อนที่บขส. จะสามารถมาให้บริการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบเต็มรูปแบบได้นั้น ทาง บขส. จะต้องมีการนำเสนอแนวทางและกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบสมบูรณ์ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน ขณะเดียวกันจะต้องเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อ ครม. ในการเปลี่ยนมติ ครม. เมื่อปี 2502 ที่กำหนดให้ การดำเนินการธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ เป็นของ องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) ซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มาก่อน แต่ปัจจุบันได้ยุบองค์กรไปแล้ว และในส่วนของ บขส. นั้นมติครม. ได้กำหนดให้ บริการรับส่งผู้โดยสารเป็นหลัก

นายสรพงษ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีแนวนโยบายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับ บขส. เนื่องจากพบว่าจากปัจจัยหลายอย่างทั้งพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารได้เปลี่ยนไป หันไปเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ และล่าสุดได้รับผลกระทบจากโควิด19 ทำให้พบว่าการเดินทางเส้นทางไกลปัจจุบันมีสัดส่วนการเดินทางเพียง 50-60%เท่านั้นจากความสามารถที่จะบรรทุกผู้โดยสารได้ ในขณะที่การบรทุกสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่ บขส. ดำเนินการอยู่เฉพาะใต้ท้องรถโดยสาร สามารถทำรายได้ในส่วนนี้ถึง 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจากพฤติกรรมการขนส่งสินค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปทำให้มั่นใจว่าหากบุกตลาดขนส่งสินค้าอย่างเป็นรูปธรรมจะสร้างรายได้ให้ บขส. เพิ่มขึ้นกว่า 3เท่า หรือมีรายได้ในส่วนนี้กว่า 300ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าที่จะรับขนส่งนอกจากเป็นสินค้าของบุคคลทั่งไปแล้ว จะมีการเจรจากับพันธมิตรทำทำธุรกิจสินค้าเพื่อให้มีการขนส่งสินค้าในระยะยาว ขณะเดียวกันจะเน้นการขนส่งสินค้าโอทอปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากจะย้อนกลับไปดูผลประกอบการของบขส. ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ในปัจจุบัน บขส.ต้องแบกรับต้นทุนการกำกับดูแลผู้ประกอบการรถร่วม การตรึงราคาค่าโดยสาร รวมถึง ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคการใช้สถานีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 59 แต่ก็ยังมีผลประกอบการที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยปี 60 บขส.สามารถทำกำไรได้ 53.934 ล้านบาท แต่จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นเงินเดือนค่าจ้างให้พนักงาน 5 % ทำให้ บขส. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 16.136 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการ บขส.ในปี 61 นั้น บขส.สูญรายได้ค่าโดยสารจากที่ควรมีกำไร อยู่ที่ 129.163 ล้านบาท แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สถานการณ์ราคาน้ำมันได้มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาต้นทุนน้ำมันในการดำเนินการไม่สอดคล้องกับราคาค่าโดยสารที่มีการจัดเก็บในขณะนั้น ประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีการตรึงราคาค่าโดยสารเพื่อให้บริการประชาชน ทำให้ บขส. ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 94.609 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามพอมาปี 62 บขส.สามารถสร้างรายได้จากการเดินรถ และธุรกิจอื่นๆ มีกำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่168.35 ล้านบาท แต่ศาลได้มีคำสั่งให้ บขส.จายทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานกว่า 100 ล้านบาทเลยทำให้ผลการดำเนินงานในปี 62 บขส. ประสบปัญหาขาดทุนในหลักสิบล้านบาท

ส่วนในปี 63 ต้องบอกว่า บขส.ประวบปัญหาอย่างหนัก จากเดิมพฤติกรรมผู้โดยสารไก้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยโดยสารรถทัวร์ ปัจจุบันได้มาเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ เนื่องจากราคาค่าโดยสารไม่ต่างกันมาก ประกอบกับใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า และยิ่งมาเจอวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปี 63 ยอดปริมาณการใช้บริการของผู้โดยสารได้ลดลงอย่างน่าตกใจ จากเดิมมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการกว่า 70,000 คนต่อวัน เหลือไม่ถึง 30,000คนต่อวันเท่านั้น ส่วนค่าขา ที่จะต้องได้รับ 1ที่นั่งต่อเที่ยววิ่งก็ได้ลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการลดเที่ยววิ่งลง