“ธรรมนัส” รอดตามคาด! ศาลรัฐธรรมนูญชี้ไม่ขาดคุณสมบัติสส.-รัฐมนตรี



วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 51 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า คำพิพากษา ย่อมหมายถึงคำพิพากษาของรัฐนั้น ไม่หมายถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ แม้ข้อเท็จจริงผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนรับเลือกตั้งเป็ นส.ส. จึงไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลไทย ไม่ขาดคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นส.ส. หรือ รัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2563  ส.ส.พรรคก้าวไกล 54 คน และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ร่วมลงชื่อขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัสว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยแยกเป็น 2 คำร้อง

คือ 1.สมาชิกภาพของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการถือหุ้นในตลาดคลองเตย และ 2.กรณีที่เคยถูกศาลพิพากษาในคดีที่เกี่ยวพันกับยาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่ง 2 กรณีนี้จะนำไปสู่การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี

ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2563 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวว่า ได้รับคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นให้ตรวจสอบดังกล่าวไว้พิจารณา จากนั้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าว ยกคำร้องในกรณีที่ ภริยาของ ร.อ.ธรรมนัส ถือหุ้นในบริษัท ตลาดคลองเตย (2551) จํากัด และบริษัทฯ ทําสัญญาเช่าพื้นที่กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ไม่มีลักษณะเป็นการเข้าทําสัญญาอันเป็นการผูกขาดตัดตอน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม มูลกรณีไม่ต้องด้วยเหตุ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้ จึงมีคําสั่งไม่รับคําร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ดังนั้น จึงเหลือเพียงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติดเพียงกรณีเดียว