

- ททท.หนุนชาติพันธุ์ไทยใหญ่จัดกระหึ่มเที่ยวงาน“ประเพณีปอยส่างลอง” จ.แม่ฮ่องสอน
- ชูขาย ซอฟท์ เพาเวอร์ เทศกาลวิถีถิ่นเริ่มแล้ว 6 อำเภอ 6 พิกัด 13 วัด ปลาย มี.ค.-8 เม.ย.66
- ตั้งเป้าเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวสายศรัทธา สายมูเตลูทั้งคนไทยและต่างชาติกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่าททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอนเชิญชวนท่องเที่ยวงาน “ประเพณีปอยส่างลอง” จังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มตั้งตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-8 เมษายน 2566 เป็นหนึ่งในพลัง Soft Power ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ความงดงาม ซึ่งชาวชาติพันธุ์ไทยใหญ่หรือชาวไตมีงานประเพณีเป็นต้นแบบหนึ่งปีมีครั้งเดียวได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติขณะนี้งานปอยส่างลองขยายจัดไปถึงเชียงใหม่ เชียงราย แล้วเช่นกัน
ปี 2566 แม่ฮ่องสอนจัดงานประเพณี “ปอยส่างลอง” โดยมีไฮไลต์สำคัญที่นักท่องเที่ยวทุกคนพร้อมใจกันเข้าร่วมคือ“วันแห่คัวหลู่” จะเปิดโอกาสช่วงเช้าให้ผู้มีจิตศรัทธา หรือนักท่องเที่ยว ได้ชมหรือเข้าร่วมแห่ส่างลองเครื่องไทยทานช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริการจาก “วัดปางล้อ” ไปตามถนนสายต่าง ๆ ส่วนงานประเพณีนี้ได้ในใน 6 อำเภอ 6 พิกัด 13 วัด ได้แก่

พิกัดที่ 1 อำเภอเมือง จัดวันที่ 24,30 มี.ค. และ 4,23 เม.ย.เวลา 7.00 น. ใน 4 วัด เริ่ม 22-25 มี.ค. วัดแม่สะกึ๊ด 26-31 มี.ค.วัดนาป่าแปก 3 – 5 เม.ย.วัดปางล้อ และวัดห้วยขาน 22-24 เม.ย.วัดในสอยตต
พิกัดที่ 2 อำเภอปาย จัดวันที่ 4,6 เม.ย. และ1 พ.ค. เวลา 16.00 น.ใน 3 วัด เริ่ม 3 – 5 เม.ย.วัดป่าขาม 5 – 7 เม.ย.วัดแม่นาเติงใน 29 เม.ย. – 2 พ.ค.วัดม่วงสร้อย
พิกัดที่ 3 อำเภอแม่สะเรียง จัดวันที่ 3,8 เม.ย. เวลา 16.00 น. ใน 2 วัด 2 – 4 เม.ย.วัดศรีบุญเรือง 7 – 9 เม.ย. วัดสุพรรณรังษี
พิกัดที่ 4 อำเภอปางมะผ้า จัดวันที่ 27 มี.ค. เวลา 7.00 น.ใน 1 วัด 25-28 มี.ค.ที่สำนักสงฆ์ถ้ำพญางู
พิกัดที่ 5 อำเภอขุนยวม จัดวันที่ 31 มี.ค.และ 4 เม.ย. เวลา 15.00 น. ใน 2 วัด เริ่ม 29 มี.ค. – 1 เม.ย.วัดต่อแพและ3-5 เม.ย.วัดคำใน
พิกัดที่ 6 อำเภอแม่ลาน้อย จัดวันที่ 7 เม.ย. เวลา 16.00 น. ใน 1 วัด 5 – 8 เม.ย.2566 วัดดอยแก้ว
การท่องเที่ยวงานประเพณี “ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน” ของชาวไทยใหญ่จะจัดงานทุกปีเพื่อแสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยใหญ่ ตลอดจนเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามเป็นเอกลักษ์ให้คงอยู่สืบไป โดยเฉพาะ “ขบวนแห่ส่างลอง หรือแห่ครัวหลู่” มีความสวยงามตามแบบโบราณของชาวไทยใหญ่หรือชาวไตอย่างแท้จริง มีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่นักท่องเที่ยวคนไทยและทั่วโลกเดินทางมาแม่ฮ่องสอน พร้อมกับร่วมทำบุญสืบสานงานประเพณี ซึ่งแต่ละวันมีความความหมายต่างกัน คือ
“วันแรก” เรียกว่า “วันรับส่างลอง” เจ้าภาพจะทำพิธีกรรม “ส่างลอง” ตอนเช้า นำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอนเสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่าง ๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่น แต่งหน้าด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปากสีแดง สวมถุงเท้าสีขาว ถือเป็นการแต่งส่างลองเต็มตัว แล้วพระสงฆ์จะให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอน

จากนั้น “ตะแป ส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ ก็จะนำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ” หรือ “ร่มทองคำ” กางกั้นบังแดดให้ส่างลอง
วันที่ 2 เรียกว่า “วันแห่ครัวหลู่” เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน เพื่อแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดปางล้อไปตามถนนสายต่าง ๆ ตลอดช่วงเช้าผู้มีจิตศรัทธาจะเข้าร่วมขบวนมากมายช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรมทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ จีเจ่หรือกังสดาล ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง
โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทองหรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นจะจัดการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตตามวัดต่าง ๆ
วันที่ 3 เรียกว่า “วันข่ามส่างหรือวันหลู่” เป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เลี้ยงอาหารไต แก่ผู้ที่มาร่วมงาน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ทั้งนี้ “ประเพณีปอยส่างลอง” คือการบวชลูกแก้วหรือบรรพชาสามเณรช่วงฤดูร้อน จะจัดขึ้นทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นจากการทำนา ในท้องถิ่นมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แล้วก็เป็นช่วงเด็กเยาวชนปิดเทอม เพื่อให้บุตรหลานได้ “ศึกษาเรียนรู้พระธรรม เจริญจิตภาวนา ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” ชาวไทยใหญ่จึงจัดบวชส่างลองตามความเชื่อที่ได้ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาช้านาน

ตามความเชื่อคือการบวชจะได้รับอานิสงส์ “ผลบุญสูงสุด” ทุกวันนี้จึงทำให้ “แม่ฮ่องสอน” มีชื่อเสียงโด่งดัง ถือคติการบวชเณรที่จำลองแบบมาจาก “พุทธประวัติของพระพุทธเจ้า” ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช จึงต้องแต่งกายส่างลองกันให้สง่างาม ตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดา ทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศรีษะโพกด้วยผ้าแพรและประดัฐด้วยดอกไม้ มีคนคอยกางร่มทองคำกันแดดมีพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลส่างลองอย่างใกล้ชิด
ททท. แม่ฮ่องสอน เชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ ร่วมประสบการณ์งานวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยใหญ่และขบวนแห่สุดตระการตางานปอยส่างลองปี 2566 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมเที่ยวเมืองไทยภาคเหนือ ช่วยทำให้เป้าหมายภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศตลอดทั้งปีทำจำนวนผู้เยี่ยมเยือนให้ได้ถึง 250 ล้านคน-ครั้ง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaem