

ททท.ตั้งรองผู้ว่าการแผงใหม่ 5 คน มีผล 1 ต.ค.66 เสริมทัพผู้ว่าการฐาปนีย์ นำท่องเที่ยวปี’67 สร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท
- สานต่อยุทธศาสตร์ 5 ปี พ.ศ.2566 -2570 พลิกโฉมประเทศไทย 3 เรื่องหลัก
- “เที่ยวเชิงคุณภาพ-สร้างนิเวศน์ใหม่-นำไทยเที่ยวยั่งยืน”
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการ ใหม่ตามมติของคณะกรรมการ (บอร์ด) ททท.รวม 5 ตำแหน่งประกอบด้วย 3 คนแรก สลับจากเก้าอี้รองผู้ว่าการเดิม มาเป็นรองผู้ว่าการรับผิดชอบภารกิจที่เหมาะสม ได้แก่ คนที่ 1 นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา เป็น รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ คนที่ 2 นางสาวสมฤดี จิตรจง เป็นรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ คนที่ 3 นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด และหน้าใหม่ขยับจากระดับผู้บริหารระดับผู้อำนวยการ มี 2 คน ได้แก่ คนที่ 4 นางรุจิรัศมิ์ ฉัตรเฉลิมกิจ เป็นรองผู้ว่าการด้านบริหาร คนที่ 5 นายธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ททท. จะมีรองผู้ว่าการฯ รวมทั้งหมด 8 คน โดยมีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ปัจจุบัน 3 คน ได้แก่ 1.นางน้ำฝนบุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน 2.นายอภิชัยฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว และ 3.นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา

รองผู้ว่าการ ททท.ทั้ง 8 คน จะทำงานเคียงข้างกับนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท.คนใหม่ที่เพิ่งผ่านการสรรหา เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เพื่อร่วมมือกันกับฝ่ายบริหารททท.ทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศให้ได้ถึง 3 ล้านล้านบาท และจะต้องนำการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศในระยะสั้นตามนโยบาย Quick Win ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งต้องขับเคลื่อนแผนตลาดการท่องเที่ยวปี 2567 ซึ่งจะเริ่มเดินหน้าปีงบประมาณตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
สำหรับแผนตลาดการท่องเที่ยวตามแผนวิสาหกิจองค์กร ททท. พ.ศ. 2566 – 2570 กำหนดวิสัยทัศน์ให้ “ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า และมุ่งสู่ความยั่งยืน” ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศทุกมิติในเชิงยุทธศาสตร์หลัก 3 วัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1.Drive Demand : มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน 2.Shape Supply : สร้างคุณค่าและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem) และ3.Strive for Excellence : ยกระดับองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูง มุ่งสู่การเป็น Data Driven Organization เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการตลาด สู่หมุดหมายพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืน (High Value & Sustainable Tourism)

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook,com/penroongyaisamsaen