ททท.ชี้เป้ารัฐ-เอกชนทำโมเดลแก้แรงงานขาดตลาดปี’66 รับมือท่องเที่ยวโต 2 เท่า-รักษาจุดแข็งไทยฟื้น 2.4 ล้านล้าน



  • ททท.ชี้เป้าปี’66 เอกชนเร่งทำด่วน!! โมเดลแก้ “แรงงานขาดตลาด” รับมือท่องเที่ยวโต 1-2 เท่า ต่างชาติ 20 ล้านคนคนไทย 200 ล้านคน-ครั้ง
  • หลังโควิดทั้งประเทศเจอปัญหา 3 สาเหตุหลัก “ผู้ประกอบการขาดเงินจ้าง-คนเก่งไม่กลับมา-คนรุ่นใหม่ชอบอาชีพอิสระ”
  • ททท.นำร่องใช้ “ทำงานไฮบริด” แนะเอกชนปรับ “Mindset” ลงทุน “พัฒนาคน” หนึ่งในซอฟท์ เพาเวอร์ ชี้เป็นชี้ตายอนาคตท่องเที่ยว
  • เหตุเพราะทั่วโลกแข่งขันสูงใช้ท่องเที่ยวฟื้นรายได้ คนเป็นจุดแข็งภาคบริการไทยดึงคนกลับมาเที่ยวซ้ำเพิ่มรายได้เข้าเป้า 2.4 ล้านล้าน

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและต้องเผชิญปัญหาใหญ่เรื่อง “การขาดแคลนบุคลากรกลับเข้าสู่ภาคบริการและการท่องเที่ยว” โดยเฉพาะปี 2566 สร้างความกังวลกับ ททท.และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากตามเป้าจะมี “จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสูงมาก” ทั้ง “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เพิ่มขึ้นเกินกว่า 20 ล้านคน และ “คนไทยเที่ยวในประเทศ” อีกกว่า 200 ล้านคน-ครั้ง โดยจะต้องร่วมกันทำรายได้ท่องเที่ยวตามโจทย์รัฐบาลให้ได้ 2.4 ล้านล้านบาท

การขาดแคลนบุคลากรหรือแรงงานท่องเที่ยวตอนนี้มีสาเหตุหลัก 3 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเลิกจ้างพนักงานตอนเกิดวิกฤตโควิด-19 ผนวกกับเมื่อเริ่มกลับมาเปิดบริการใหม่ก็ยังไม่มีเงินทุนเพียงพอจะจ้างได้เต็มรูปแบบ

เรื่องที่ 2 แรงงานฝีมือที่มีความสามารถไม่กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมอีกต่อไป เพราะหันไปเลือกทำอาชีพอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่าท่องเที่ยวซึ่งพอเจอวิกฤตแล้วต้องตกงาน จากความไม่แน่นอนทั้งจากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ โรคระบาดใหม่

เรื่องที่ 3 แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่นิยมทำงานในระบบต้องกำหนดเวลาเข้าออกชัดเจน ส่วนใหญ่จึงเลือกงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์

ปัจจุบัน ภายใน ททท.เองก็เผชิญความท้าทายเช่นเดียวกัน ในรอบ 60 ปี ส่วนใหญ่จะมีแต่คนต้องการสมัครเข้าทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคง ต่างจากปัจจุบันเริ่มมี “พนักงานอายุน้อย” ลาออก ด้วยเหตุผลต้องการ “ทำอาชีพอิสระ” มากกว่า เพื่อจะได้มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น ดังนั้นโมเดล “ทางออก” ที่จะรักษาบุคลากรไว้เบื้องต้น ได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ททท.ได้ทดลองทำโครงการ “hybrid” คือ มาทำงานตามเวลาในสำนักงาน 4 วัน และทุกวันพุธสามารถเลือกสถานที่ทำงานที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้าสำนักงาน ภายใต้เงื่อนไขการทำงานตามปกติในระบบราชการและงานจะต้องเดินหน้าได้ตามปกติเหมือนการทำงานอยู่ในสำนักงาน ด้วยการใช้ระบบที่เคยนำมาใช้ตอนวิกฤตโควิด-19 แล้วพนักงานต้องทำงานอยู่บ้าน (work from home)

วิธีที่ 2 องค์กรจะต้องปรับกระบวนทางความคิด (mindset) ใหม่ที่จะรักษาบุคลากรไว้แทนการปล่อยให้คนลาออกหรือเปิดรับสมัครใหม่มากเกินไป จัดทำกิจกรรม ฝึกอบรมทักษะ เพิ่มองค์ความรู้ สอนเทคนิคการบริการรอบด้านอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงจูงใจให้คนตื่นตัวกับการทำงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะ “ผู้ประกอบการท่องเที่ยว” สามารถเพิ่มคือ มุ่งเติมความรู้เชิงลึก รู้เนื้อหาจริง สินค้าของบริษัทให้มากที่สุด หันมาปรับแนวทางควบคู่กันไปทั้งเรื่องการพัฒนาโปรดักซ์ การตลาด และเพิ่มการพัฒนาบุคลากรบริการอย่างจริงจังเต็มรูปแบบ

นางสาวสมฤดี กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องบุคลากรกับผลกระทบทางตลาดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ “ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาก” เพราะ “บุคลากรภาคบริการ” ถือเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟท์ เพาเวอร์” ผนวกกับแนวโน้มหลังสถานการณ์โควิด-19 ตลาดท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าเมืองไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกเดือน ปัจจุบันและอนาคต “คน/แรงงาน” คือ “ซอฟท์ เพาเวอร์” ที่สำคัญมากและเป็นจุดแข็งของไทย ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาใส่ใจหลังโควิดคือ “บุคลากรบริการ” ซึ่งสร้างความประทับใจกับนักท่องเที่ยวคนไทยและทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วทำให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่คนอยากจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีกครั้ง ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐและธุรกิจเอกชนต้องเพิ่มน้ำหนักให้ความสำคัญกับการจ้างพนักงานมากขึ้น ก่อนที่คนจะไม่สนใจกลับมาเป็นแรงงานในอาชีพนี้อีกต่อไป

“เทรนด์ใหม่” ที่ผู้ประกอบการควรหันมายกเครื่อง ตัวอย่าง จากประสบการณ์ล่าสุดมีโอกาสไปเกาะสมุยจ.สุราษฎร์ธานี เพื่อฉลองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยครบ 10 ล้านคน แล้วได้เห็นสมุยมีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เต็มเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่พบคือ “ปัญหาบุคลากร” คนเก่าไม่กลับมาคนใหม่ยังทำงานไม่คล่อง แต่ก็ยังได้เห็นตัวอย่างที่ดี เช่น “ร้านกะปิสะตอ สมุย” มีคนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนได้สร้างเทรนด์บริการอย่างน่าชื่นชมบรรดา“พนักงานเสิร์ฟ” ทุกคนในร้านสามารถนำเสนอเรื่องราวถ่ายทอดให้ผู้บริโภคครบทุกมิติทั้งเรื่อง “เมนูอาหาร” ให้คำแนะนำจับคู่อาหารกินกับเมนูใดจึงจะได้รสชาติอร่อย บอกแหล่งวัตถุดิบ เช่น กะปิ หรือแม้แต่ชุดฟอร์มพนักงานก็ถ่ายทอดออกมาถึงวัฒนธรรมภาคใต้อันงดงามได้

สะท้อนถึงศักยภาพของ “บุคลากร” ในฟันเฟืองเล็ก ๆ ตามร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมก็เป็นพลังยิ่งใหญ่ที่จะสร้างแรงจูงใจกับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปใช้บริการ ด้วยการขยายผลทำการตลาดเชื่อมโยงขายสินค้าได้หลากหลายมากกว่าอาหารเพียงจานเดียว

ดังนั้นปี 2566 จึงแนะนำให้ “ผู้ประกอบการท่องเที่ยว” ทุกสาขา เตรียมรับมือกับกระแสไหลบ่าของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1-2 เท่า เพื่อ “เพิ่มมูลค่า” เงินรายได้จากนักท่องเที่ยว จากการใช้พนักงานบริการที่มีคุณภาพและศักยภาพทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยอยากใช้เงินมากขึ้นด้วยความประทับใจถึงสิ่งที่ได้รับอย่างคุ้มค่าจริง ๆ

ส่วนกลยุทธ์ที่ ททท.ภาครัฐ หรือกระทรวงแรงงาน พยายามนำเปิดอบรมฟรีให้ผู้ประกอบการส่งคนเข้ามาร่วมพัฒนาทักษะ Up-Re Skill แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อธุรกิจเปิดดำเนินการใหม่อีกครั้งก็ไม่สามารถจัดเวลาส่งคนเข้ามาร่วมอบรมได้มากนัก ดังนั้น “ต้องปรับกลยุทธ์” ททท.มีโมเดลนำมาขึ้นเว็บไซต์องค์กรเป็น “ผังชาร์ต” เพื่อให้คนในองค์กรสามารถเข้าไปศึกษา ดูต้นแบบ นำไปประยุกต์ใช้งานได้ โดยไม่กระทบเวลาการทำงาน

นางสาวสมฤดีกล่าวว่า ททท.มีโมเดลพัฒนา “ผู้อำนวยการ” ก่อนส่งไประจำตามสำนักงานต่างประเทศทั่วโลก หรือภายในประเทศ ด้วยกลยุทธ์จัดทำเป็น “ถัง KM : Khowledge Management” รองรับกับโปรแกรมสำเร็จรูป DMS แล้วเชิญแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำความรู้และประสบการณ์ทำงานดี ๆ มาแชร์ไว้ในถัง KM เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ด้วย ควบคู่กับ “เอกสาร” บอกแนวทางการทำงาน เพราะ ททท.สำนักงานต่างประเทศทั่วโลกคือ “หน้าด่าน” และ “ผู้แทน” ประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว จึงต้องฝึกอบรมให้ความสำคัญกับ “คน” มากขึ้น ด้วยการ “บริหารคนให้เป็น” กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ลูกน้อง หัวหน้างาน พันธมิตรทางธุรกิจท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว

ปี 2566 ททท.ได้ปรับลดสัดส่วนความสำคัญ “การตลาด” ลงเล็กน้อย แล้วหันไปทุ่มทำแผน “พัฒนาบุคลากร” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมี สำนักงานต่างประเทศทั่วโลก 29 แห่ง และในประเทศอีก 45 แห่ง ขณะนี้กำลังเดินตามนโยบายรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศึกษาการเปิดสำนักงานใหม่ในซาอุดิอาระเบีย แต่จะต้องคำนึง 2 ส่วน คือ 1.งบประมาณสำนักงาน 2.บุคลากร เพื่อรองรับการเปิดตลาดที่มีศักยภาพและการสร้างแรงจูงใจด้านการลงทุนในไทยและไทยในซาอุดิอาระเบีย เพราะการสร้างและพัฒนาคนเป็นปัจจัยสำคัญมากในการเดินหน้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเวทีโลกแข่งกับนานาประเทศ

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongysamsaen