

.ไอเอ็มเอฟลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีหน้าเหลือ 2.7% เตือนโลกรับเศรษฐกิจถดถอย
.ตลาดจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 13 ต.ค.
. ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวขึ้น หนุนดัชนีดาวโจนส์ยืนในแดนบวก
เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 29,298.44 จุด เพิ่มขึ้น95.56 จุด หรือ +0.33% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 10,479.18 จุด ลดลง 62.92 จุด หรือ -0.60% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,603.72 จุด ลดลง 8.67 จุด หรือ -0.24%
ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงผันผวน โดยตลาดมีแรงซื้อเข้ามาเพื่อซื้อหุ้นราคาต่ำสะสม ขณะที่มีแรงขายออกโดยกังวลการฟื้นตัวที่ช้าลงของเศรษฐกิจ จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันนี้ โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9%
“ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า” รายงานระบุ
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ขณะที่จับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหาสิ่งบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ผลการสำรวจพบว่า ดัชนี CPI ยังคงบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงในเดือนก.ย. โดยดีดตัวขึ้นมากกว่า 8% ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี แม้ชะลอตัวจากเดือนส.ค.
อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.1 ในเดือนก.ย. โดยปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 91.8 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหนุนดัชนีตลาดหุ้น
นักลงทุนจับตาการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลประกอบการจะชะลอตัวในไตรมาส 3 โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์