ดาวโจนส์พุ่งกว่า 140 จุดขานรับเศรษฐกิจสหรัฐ-ภาคแรงงานฟื้นตัว



.อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
.นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้น นักวิเคราะห์มองตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ค.ไม่สูงขึ้นมาก ดีกับเงินเฟ้อ
.ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทวีตเศรษฐกิจสหรัฐฟื้น อเมริกากำลังเดินหน้าอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเวลา 22.15 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,718.24 จุด เพิ่มขึ้น 141.20 จุด หรือ +0.41% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,790.98 จุด เพิ่มขึ้น 176.48 จุด หรือ +1.30% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,223.44 จุด เพิ่มขึ้น 30.59 จุด หรือ +0.73%

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่ง แต่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 278,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.9% หลังจากแตะระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. 278,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 785,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 770,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 278,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 266,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนพ.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 492,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 67,000 ตำแหน่ง

นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง นอกจากนั้น ยังคลายกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ หลังนักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ค.มีความแข็งแกร่งในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากไม่ต่ำเกินไปจนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ และไม่ร้อนแรงเกินไปจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่มีการปรับตัวขึ้นในเดือนพ.ค. ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ความคืบหน้าเป็นประวัติการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐ

“รายงานการจ้างงานในวันนี้ได้แสดงถึงความคืบหน้าเป็นประวัติการณ์สำหรับครอบครัวชาวอเมริกัน และเศรษฐกิจอเมริกัน โดยอเมริกากำลังเดินหน้าอีกครั้งหนึ่ง” ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.6% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค. โดยถูกกดดันจากการขาดแคลนชิป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานพุ่งขึ้น 14.2% ในเดือนเม.ย.

ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน พุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนเม.ย. โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวถือเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ