ดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นกว่า 170 จุด คลายกังวลราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ



.มีแรงซื้อกลับเข้ามา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังอิหร่านอาจจะได้กลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดโลก
.ตลาดมอง .ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่เริ่มทรงตัวช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
.นักลงทุนจับตาการประชุมฉุกเฉินของนาโต เพื่อจัดการยุติวิกฤตยูเครน

เมื่อเวลาประมาณ 21.50 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,533.34
จุด เพิ่มขึ้น 174.84 จุด หรือ +0.51% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,985.14 จุด เพิ่มขึ้น 62.54 จุด หรือ+0.45% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,483.87 จุด เพิ่มขึ้น 27.63 จุด หรือ +0.62%


นักลงทุนจับตาการประชุมฉุกเฉินขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) วันนี้ เพื่อหามาตรการตอบโต้รัสเซียจากการที่ส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้เดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของ 3 กลุ่มซึ่งได้แก่ การประชุมนาโต, การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 และการประชุมสหภาพยุโรป (EU)


ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงแกว่งตัวแคบๆ ในแดนบวก มีแรงซื้อหุ้นคืนบ้างในบางกลุ่มหลังราคาลดลงไปมาก โดยได้ปัจจับหนุนจากราคาน้ำมัน WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เริ่มมีเสถียรภาพในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยว่าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีความคืบหน้า ซึ่งจะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด ซึ่งอาจจะทำให้ผลกระทบจากสงครามยูเครน กระทบตลาดน้ำมันไม่มากเท่าที่คิด และเป็นผลดีต่อภาวะเงินเฟ้อในอนาคต


ด้านภาวะเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานยังคงออกมาทิศทางที่ดี โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 28,000 ราย สู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2512 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย


ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 67,000 ราย สู่ระดับ 1.35 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2513


เอส แอนด์ พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2564 จากระดับ 55.9 ในเดือนก.พ.


ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวของอุปสงค์ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานดีดตัวขึ้น


ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงในเดือนมี.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าพุ่งสูงขึ้น


สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ร่วงลง 2.2% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือน ม.ค.นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลง 1% ในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือน ก.พ.ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน