ชาวบ้านเตรียมเฮ! ธนารักษ์ หารือบขส.-คมนาคม หาวิธีทำทางเข้า-ออกโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ โดยไม่เวนคืนที่ดิน



  • ต้องทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
  • เร่งหาข้อสรุปการย้ายสถานีขนส่งให้ชัดเจน
  • นำกลับมาหารือในที่ประชุมในเดือนมี.ค.นี้

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุพหลโยธิน หรือโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ไปแล้ว โดยได้หารือประเด็นข้อติดขัดต่างๆ ที่ทำให้โครงการล่าช้า ทั้งการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตกลับเข้ามาใช้พื้นที่ที่มีการกันไว้ 110,000 ตารางเมตร และการเวนคืนที่ดินโดยรอบเพื่อทำทางยกระดับเข้าออก เพื่อเร่งหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ในส่วนของการย้ายสถานีขนส่ง เบื้องต้นอาจพิจารณาปรับรูปแบบให้ย้ายกลับมาเฉพาะในส่วนของรถโดยสารขนาดเล็ก เช่น รถตู้ เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ และลดผลกระทบทางจราจร ส่วนรถโดยสารขนาดใหญ่ รถบัสสองชั้นอาจให้อยู่ที่เดิมเพื่อลดความแออัด โดยหลังจากนี้กรมการขนส่งทางบก และ บขส. กำลังเร่งหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาข้อสรุป รวมถึงต้องหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในขอขยายสัญญาการใช้พื้นที่หมอชิตปัจจุบันด้วย

ส่วนปัญหาการเวนคืนที่ดินโดยรอบโครงการ ซึ่งมีชาวบ้านได้รับผลกระทบและออกมาร้องเรียนจำนวนมากนั้น มีแนวทางว่าอาจจะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะการเวนคืนถือเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้งบประมาณในการเวนคืนหลายพันล้านบาท และยังทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนโดยรอบเสียโอกาสมานานแล้ว เพราะหลังจากมีข่าวจะเวนคืนก็ไม่สามารถนำพื้นที่ไปพัฒนาได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคม และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะไปศึกษาหาวิธีการทำทางเข้าออกที่ไม่ต้องเวนคืน หรือทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

“ทั้ง 2 ประเด็นจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาและนำกลับมาเข้ามาหารือที่ประชุมในเดือนมี.ค.นี้ โดยในเรื่องการย้ายหมอชิต ทางกรมขนส่งฯยืนยันว่าต้องการใช้พื้นที่ 110,000 ตารางเมตรอยู่ ซึ่งจากนี้จะต้องมีการสรุปให้ชัดเจนว่าจะย้ายกลับมาแบบไหน เพื่อให้ทางบีเคทีซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิพัฒนาโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ พิจารณา และออกแบบเดินหน้าโครงการต่อไป”

นายยุทธนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการมีความล่าช้ามานานกว่า 24 ปี มีการเซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าอยากให้โครงการเกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยทางภาคเอกชนก็พร้อมรับฟังถึงแนวทางปรับรูปแบบการย้ายสถานีขนส่งใหม่เพื่อเร่งผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น ขณะที่กรมก็จะรับประโยชน์จากการเก็บค่าเช่า และยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทำให้เกิดย่านธุรกิจขึ้นใหม่ รวมถึงทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน จำนวนมาก