

วันที่ 12 ก.ย.2564 ศ.นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษา ศบค. กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พบต่ำกว่า 15,000 คน เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 20 ก.ค. และตลอดเดือนส.ค. อีกทั้งการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่เริ่มมีการคลายมาตรการบางอย่าง จะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเปลี่ยนไปในอีก 2 สัปดาห์หน้า กราฟผู้ป่วยติดเชื้อจะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเป็นปฏิกิริยาที่ต้องเกิดขึ้น เหมือนกับกฎของโมเมนตัม ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอีก ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevantion ) และในหน่วยงาน องค์กร หรือออฟฟิสต่างๆ ร่วมกันทำ Covid free setting สุ่มค้นหาผู้ป่วยในสถานที่ทำงานทุกสัปดาห์ ร่วมกับมาตรการส่วนบุคคลที่เคร่งครัดก็ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้แน่นอน
ศ.นพ.อุดมกล่าวว่า ได้อธิบายสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อในที่ประชุม ศบค. และนายกฯรับทราบและเข้าใจแล้ว จึงยังไม่ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้งหมด ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ดังนั้น จึงจะรอให้ถึง 1 ต.ค. จึงค่อยมาดูสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ว่าสมควรจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หรือไม่ ยอมรับว่าที่ผ่านมาคนมักมองว่าเรื่องของสุขภาพ และเศรษฐกิจสวนทางกัน แต่ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กันไป เพราะโควิดไม่สามารถจบลงได้โดยเร็ว แต่ต้องบริหารจัดการอย่างไรที่ทำให้ตัวเลขการป่วยติดเชื้อไม่เป็นภาระหนักจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว และเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้
ทั้งนี้ สำหรับอัตราการคนไข้ป่วยติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขรับได้ไม่เกินกำลัง ควรต่ำกว่าวันละ 5,000 คน และตายไม่เกิน 50 คน ถือว่ารับได้ไม่เหนื่อยมาก หากตัวเลขผู้ป่วยอยู่ที่ 5,000-10,000 คนต่อวัน ยังพอรับได้ เพราะหากดูตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อครองเตียงในขณะนี้จะเห็นว่าแม้ตัวเลขลดลง แต่เตียงใน รพ.ในผู้ป่วยสีแดงยังเต็มอยู่ แต่หากติดเชื้อเกิน 10,000 คนต่อวัน ก็จะทำให้ระบบการทำงานของสาธารณสุขเริ่มหลังแอ่น