จับตา “ดาต้าเซ็นเตอร์” เทรนด์ธุรกิจใหม่ในไทย กับการคว้าโอกาส เตรียมพร้อมก้าวสู่ระดับโลก



นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ บริษัท ซีบีอาร์อี ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายใน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการทำงานและการใช้ชีวิต ทั้งนี้จากการที่เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 และจำนวนของผู้ใช้งานออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จึงทำให้ความต้องการพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้จีนถือเป็นศูนย์กลางของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ก็ยังมีผู้เล่นหลักรายอื่นๆซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง อยู่ในตลาดนี้ด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองก็พร้อมที่จะเติบโตในตลาดนี้

“แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง จะมีความน่าเชื่อถือในการให้บริการด้านธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ โดยในปัจจุบันสิงคโปร์จำกัดจำนวนการพัฒนาพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ๆ โดยควบคุมการออกใบอนุญาตสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่อย่างเคร่งครัด” นายอาดัม กล่าว 

โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์พิเศษอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะช่วยจูงใจนักลงทุน ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะขยายการให้บริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ไปยังประเทศที่อยู่โดยรอบ 

นอกจากนี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐนั้น ยังตั้งอยู่ห่างจากสายเคเบิลใต้ทะเลเพียง 30 กิโลเมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 100 เมตร ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมได้

อีกทั้งการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นการปูทางไปสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Internet of Thing (IoT) ในประเทศไทย โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากต้องใช้แบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นมาก ความหน่วง (Latency) ในระดับต่ำ  และมีการรองรับความหนาแน่นในการเชื่อมต่อ (Connection Density) ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการเปิดใช้งาน 5G จะต้องทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งในด้านการใช้งาน และการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับความถี่ 5G

ทั้งนี้จากข้อมูลของแผนกวิจัยซีบีอาร์อีพบว่า ผู้เล่นรายใหญ่ อาทิ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ต่างกำลังคาดการณ์ว่า ความปกติใหม่ หรือวิถีแบบ New Normal จะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตด้านความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์ การร่วมทุนของเฟรเซอร์สฯ กับเอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ จะทำให้มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร ในเฟสแรกสำหรับกลุ่มลูกค้าอย่างผู้ให้บริการคลาวด์ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และสถาบันการเงิน

 นอกจากนี้ บริษัท เคที คอร์ปอเรชั่น ของเกาหลีใต้ ยังวางแผนที่จะค่อยๆ เข้าสู่ตลาดไทยภายในครึ่งหลังของปี 2564 และให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสูงแก่บริษัทคลาวด์ทั่วโลก

“เพื่อแข่งขันในตลาดนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว  ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมด้วยการพัฒนาความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการเปิดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ และต่อการสร้างมาตรฐานระดับสูงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย และเนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์จำเป็นต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าและระบบประปาในระดับสูงและมีความเสถียร จึงทำให้ผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานต้องรับประกันสาธารณูปโภคเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังควรมีการนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศ อย่างไรก็ตามดาต้าเซ็นเตอร์ยังเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างใหม่ และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในตลาด จึงยังต้องรอดูว่าศักยภาพสูงสุดและวัฏจักรของดาต้าเซ็นเตอร์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะเป็นอย่างไร”  นายอาดัม กล่าว