

- ชี้รูปแบบใกล้เคียงช้อปช่วยชาติ-ชิมช้อปใช้
- หวังดึงเงินกลุ่มผู้เสียภาษีออกมาใช้จ่าย
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เรียกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เข้ามารายงานถึงความคืบหน้าการออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา สศค.ไปหารือเรื่องดังกล่าวกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากผมเห็นชอบกับมาตรการ กระทรวงการคลังก็จะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อออกมาตรการต่อไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะมีการออก 2 มาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศให้สูงขึ้น เน้นดึงเงินจากผู้เสียภาษีให้เกิดการจ่าย ซึ่งมีหลายวิธีในการดำเนินการ ทั้งการใช้มาตรการภาษี และการมาตรการทางการเงินเข้ามาช่วย โดยจะปรับรูปแบบจากมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติที่เคยออกไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมมากขึ้นด้วย
“ผมยังไม่ได้คุยในรายละเอียด แต่จะมี 2 มาตรการออกมา ส่วนจะเป็นมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติหรือไม่ ต้องถาม สศค.อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่รู้ชื่อเรียกว่าอะไร ส่วนเรื่องของระยะเวลาการใช้มาตรการนั้น วางไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่มีติดขัดอะไรก็จะเสนอศบศ. และถ้าศบศ.เห็นด้วย สัปดาห์หน้าก็เสนอครม.ได้ทันที”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ ได้ระบุว่า มาตรการที่จะออกมานั้น จะเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คือ เดือนต.ค.-ธ.ค.2563 จะดำเนินการในรูปแบบการร่วมจ่าย (Co-pay)เพิ่มกำลังซื้อผู้เสียภาษีให้มากขึ้น โดยปรับรูปแบบจากมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น