

วันที่ 21 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติเห็นชอบให้มีการปรับกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% เป็นต้องไม่เกิน 70% นั้น เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอีก 10% ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยการกู้เงินนั้นจะพิจารณาตามความจำเป็นตามการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้ทั้งหมด
“ยืนยันว่าแม้รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม ก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีในสัดส่วน 2.5%-4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ 65 ได้จัดสรรงบสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ที่ 3.2% หรือ 100,000 ล้านบาทไว้แล้ว และจัดสรรเพิ่มเติมอีก 200,000 ล้านบาท สำหรับการชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)จะมีการบริหารโครงสร้างหนี้ของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อลดภาระในเรื่องของต้นทุนการกู้เงิน”
อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินกู้ จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีการวางกรอบแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2564 ไว้ที่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 120,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินอีก 360,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในปีงบประมาณ 65 ดังนั้น กรณีโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ หรือ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และจำเป็นเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็จะมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงินอีกครั้ง
“การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะในปี 63 และปี 64 กระโดดขึ้นมาและใกล้เคียง 60% โดยคาดการณ์ว่า ณ ก.ย.64 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58.96% ซึ่งตามปีงบประมาณถือว่ายังต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 60% แต่หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. อีก 300,000 กว่าล้านบาทในปี 65 ก็จะทำให้หลุดกรอบที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงต้องขยับเพดานเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวต่อว่า กระทรวงการคลังยังมีวินัยการชำระหนี้ที่ดี ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมต้องไม่เกิน 60% เป็น 70% 2.ความสามารถในการชำระหนี้ต่อจีดีพี และภาระหนี้ของรัฐต้องน้อยกว่า 35% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 31.76% 3.หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องน้อยกว่า 10% ล่าสุดอยู่ที่ 1.67% ซึ่งถือว่าต่ำมากเนื่องจากระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้กู้เงินจากต่างประเทศ และ 4.หนี้เงินตราต่างประเทศต่อภาคการส่งสินค้าและบริการ น้อยกว่า 5% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.6%