คลัง ชงแก้พ.ร.ก.ซอฟต์โลนหลังผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ



  • ล่าสุดอนุมัติแค่ 100,000 ล้านบาท
  • ติดตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ล่าสุดพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จำนวน 500,000 ล้านบาท มีการอนุมัติการใช้ไปกว่า 100,000 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการติดปัญหาในเรื่องการเข้าถึงเกณฑ์ต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) กำหนดไว้ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังได้หารือกับธปท.และมีความเห็นตรงกันว่าอยากแก้เกณฑ์ใหม่ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเสนอกรรมาธิการ(กมธ.)ของสภาเพื่อแก้กฎหมายก่อนถึงจะปรับเกณฑ์ได้

“ตอนนี้กระทรวงการคลังกำลังรีบศึกษาและดูว่าจะแก้ไขประเด็นไหนได้บ้าง โดยคาดว่าจะแก้เกณฑ์ใหม่ได้ก่อนเดือนก.ย.2564”

ส่วนต่อจากนี้จะต้องดูว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่องไหม เพราะก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดที่จังหวัดสมุทรสาคร ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ กำลังการผลิตกลับมาสู่ช่วงก่อนโควิด-19แล้ว ส่วนถ้าดูดัชนีของการสั่งซื้อทั่วโลกช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.63 ก็ยังการดำเนินเศรษฐกิจเดินหน้าอยู่ ส่วนดัชนีของรายงานการเดินทางของคนไทยเดือนพ.ย.-ธ.ค.2563 จะเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ ลดลงมาแต่ไม่มากเท่าช่วงโควิด

อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจรอบนี้ไม่ได้กระทบเหมือนกับรอบที่แล้ว แต่เชื้อโควิด-19 รุนแรงกว่า ดังนั้นจึงความจำเป็นที่จะต้องจำกัดพื้นที่ให้มีมาก ซึ่งถ้าหากดูแลเรื่องของโควิดได้ดี ซึ่งในปีนี้มีปัจจัยบวกหนึ่งอย่างคือ วัคซีนที่ทั่วโลกเริ่มฉีดแล้ว ซึ่งคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2564 จะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 70-80% ของประชากรทั่วโลก ดังนั้นเมื่อเมื่อโควิดคลี่คลายหรือยุติได้เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ความจำเป็นในเรื่องของการใช้เงินก็อาจจะไม่มี ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้ซอฟต์โลนลดลงด้วย

“บางทีโควิดระลอก 2และ 3 ก็แยกกันไม่ออก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดบางวันลดลงบางวันขึ้นมาถึง 200 คน ซึ่งตรงนี้ยังแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการตรวจเชิงรุกอย่างจริงจัง ซึ่งจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ ส่วน พ.ร.ก.ซอฟต์โลนจำเป็นสำหรับภาคเอกชนอยู่ โดยเฉพาภาคการท่องเที่ยวที่ยังเดือดร้อนหนัก แต่ในอนาคตมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมา ยิ่งถ้าฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงทั้งประเทศก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น”

สำหรับในประเทศไทย วัคซีนล็อตแรกจะมาในเดือนก.พ.2564 ซึ่งช่วยในการป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี สิ่งที่รัฐต้องทำคือตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุดเพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามารับวัคซีน ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นโควิด-19 เมื่อฉีดวัคซีนก็จะได้รับการป้องกันจากโรคด้วยเช่นกัน