

- เป็นเรื่องน่าสนใจ เพื่อเพิ่มรายได้รัฐ
- ถือเป็นหนึ่งในนโยบายปฎิรูปโครงสร้าวภาษี
- นำมาใช้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีลาภลอย (Windfall tax) ที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอไปเมื่อก่อนหน้านี้เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และหากรัฐบาลมีเหตุผลที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีในส่วนนี้ ก็พร้อมจะทำได้
ทั้งนี้ร่างกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว กระทรวงการคลังเคยเสนอ แต่เรื่องนี้ก็ตกไป โดยหากตอนนี้รัฐบาลมีเหตุผลที่จะทำก็พร้อมจะหยิบมาดำเนินการได้ มองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะใช้ แต่ไม่ใช่ว่าจะนำมาเสนออีก ทั้งหมดอยู่ที่เหตุผลของรัฐบาล หากมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะดำเนินการ
“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการวางนโยบายในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี มีการศึกษาถึงแผนการดำเนินการในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ เตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องการใช้ก็สามารถดำเนินการได้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นฐานรายได้ของรัฐบาล โดยภาษีใหม่ ๆ ที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น ภาษีอี-คอมเมิร์ซ ที่ภาพรวมการจัดเก็บขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของรัฐบาล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่เกิดจาก รายได้ของที่ดิน ที่มีโครงการ ของรัฐ ตัดผ่านหรือภาครัฐกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือรถไฟฟ้ารางคู่ โครงการสร้างสนามบิน หรือ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของภาครัฐ นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ ที่ดินบริเวณนั้นเกิดมูลค่าที่พุ่งสูงขึ้น หรือเรียกง่ายๆว่า อย่างกับได้ลาภลอย ดังนั้นภาครัฐจึงเห็นว่า ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีชนิดนี้ นั้นคือ ภาษีลาภลอย นั้นเอง