ขัดแย้งไหม? ส.อ.ท.ชี้ค่าไฟขึ้นต้นปี 17% แต่เงินดิจิทัลมาพ.ค.67



“ส.อ.ท.” ตั้งคำถามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital Wallet และลดค่าครองชีพลดค่าไฟ ขัดแย้งกันหรือไม่ เพราะค่าไฟกำลังจะขึ้นอย่างน้อย 17% ในเดือนม.ค.-เม.ย.67

  • แนะ 2 แนวทางแก้ปัญหาค่าไฟระยะยาว
  • ปรับกลไกการบริหารพลังงานและค่าไฟฟ้า

วันที่ 11 พ.ย. นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับค่าครองชีพ จากค่าไฟฟ้า และ มาตรการ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ขัดแย้งกันหรือไม่ ? ระบุว่า ในยามที่ประชาชนยังไม่รู้ว่าจะได้รับ เงิน Digital wallet ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้แถลง วานนี้ ( 10 พ.ย.) หรือไม่ ? จาก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

หรือ ถ้าได้ ประชาชนก็จะสามารถเริ่มใช้ได้ อย่างเร็วในเดือน พค.67 ค่าไฟฟ้า งวด1/67 (ม.ค. – เม. ย.​ 67 ) ก็จะขึ้นราคาอย่างน้อย 17%

ส่วนข้อเสนอปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ที่ สอท. เคยเสนอไป ทั้งระยะสั้น และ ระยะปานกลาง และ ระยะยาว ควรจะได้รับการพิจารณาดำเนินการ และ ชี้แจง จากผู้รับผิดชอบถึง แนวทาง หรือ ความคืบหน้าต่อประชาชน หรือไม่ เช่น ความสามารถนำแก๊สธรรมชาติ (NG) จาก แหล่งเอราวัณเป็นไปตามแผนหรือไม่  เป็นต้น

หลังจาก รัฐบาลโชว์ผลงานลดราคา ค่าไฟฟ้าทันที จากการประชุม ครม. นัดแรก ด้วยมาตรการยืดหนี้ ของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เห็นว่า ภาครัฐควรจะดำเนินการ 2 แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ได้แก่ 1. เร่งแก้ไขเฉพาะหน้าเพื่อลดภาระค่าไฟ ประกอบด้วย 1.1 การแก้หนี้ของกฟผ. ที่รัฐควรใช้เครื่องมือการเงินมาช่วยเช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลที่เหมาะสมเช่น 5 ปี 1.2การแก้ปัญหาการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการ โดยการลดมาร์จินค่าความพร้อมจ่าย(AP) ไม่เร่งการเพิ่มปริมาณไฟฟ้า เพิ่มความต้องการด้วยการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) 1.3 ส่งเสริมและปลดล็คพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ให้สะดวกและเป็นธรรม 1.4 ปรับโครงสร้าง NG โดยการปรับสูตรราคาขายปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับขายโรงไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)

2. ระยะกลางและยาว ได้แก่ การเร่งเจรจาพัฒนาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา(OCA) เร่งเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาดำเนินการ(TPA)ทั้งระบบการผลิตไฟฟ้าและ NG และ ปรับกลไกการบริหารพลังงานและค่าไฟฟ้าทั้งระดับนโยบาย การกำกับ และการผลิตให้โปร่งใสและเปิดเผยข้อมูล และควรจัดตั้งเวที คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน(กรอ.)พลังงาน