กลุ่มบริษัทบางจากยอดขายพุ่ง 80,000 ล้าน โต 16% โชว์กำลังกลั่นสูงสุด-OKEA ทำรายได้ทะยานสูงสุด



  • กลุ่มบริษัทบางจากโชว์ไตรมาส1ปี’66โกยยอดขายและบริการ80,380ล้านบาทEBITDA 10,992ล้านบาท
  • บริษัทใหญ่กำไร2,741ล้านบาทกำลังการกลั่นทำสถิติสูงสุด124,700บาร์เรลต่อวัน
  • ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่” OKEA ASAทุบสถิติรายได้สูงสุด

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชนเปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 เป็นไปตามเป้าหมายและสะท้อนผลลัพธ์จากแนวทางดำเนินธุรกิจด้านการเติบโตธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยทำรายได้จากการขายและให้บริการ80,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16 % กับช่วงเดียวกันกับปี 2565 มี EBITDA รวม 10,992 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา20 % มีกำไรสำหรับงวดในส่วนของบริษัทใหญ่ 2,741 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสกว่า 100 % ลดลงจากปีก่อน 37 % คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.91 บาท

แบ่งผลการดำเนินงานแต่ละกลุ่มธุรกิจเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันกับปี 2565 แล้ว ไตรมาส 1 ปี2566 มีดังนี้

กลุ่มที่ 1 ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA รวม 4,029 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 83 % แต่ลดลงจากปีก่อน 20 % โดยโรงกลั่นบางจากฯ ยังคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยระดับสูงต่อเนื่องทำสถิติสูงสุด 124,700 บาร์เรลต่อวัน รับรู้กำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้า (รวมการวัดมูลค่ายุติธรรมตามมาตรฐานบัญชีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์ได้ทำสัญญาซื้อขายมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

ค่าการกลั่นพื้นฐาน” อยู่ที่ 11.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาสปี 2565 ทำไว้ 14.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือลดลง 3.24 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพราะจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก ซึ่งทางโรงกลั่นบางจากฯ ผลิตดีเซลได้มากที่สุด  และไตรมาสนี้รับรู้ Inventory Loss 4.41 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หรือเทียบเท่า 1,687 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่ำกว่าไตรมาสก่อน

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนกว่า 100 % 
แต่ลดลงจากไตรมาสแรกปีก่อน 34 % ไตรมาสนี้ค่าการตลาดต่อหน่วยเพิ่มขึ้น จากการปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ที่เหมาะสม และการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลตามมติของกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รวมทั้ง “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งมีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการตลาดด้วย และปริมาณการจำหน่ายรวมลดลงจากปัจจัยด้านฤดูกาล

กลุ่มที่ 3 ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA รวม 852 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 15 % และลดลงจากไตรมาสแรกปีก่อน 72 % ปี 2566 มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นและไทยเพิ่มขึ้น 17 % เป็นผลจากปัจจัยฤดูกาล เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทยที่ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไตรมาสก่อน 38 % โดยรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนด้วย จากส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเมื่อมีนาคม 2566 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปปลาว ไตรมาสนี้หยุดการผลิตไฟฟ้า เพื่อเตรียมขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าเวียดนาม  

กลุ่มธุรกิจที่ 4 ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 107 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 26 % และลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 69 % แบ่งเป็น “ธุรกิจเอทานอลท” มีรายได้จากการขายลดลง จากปริมาณการขายปรับลดตามแผนบริหารการขาย แต่มีปัจจัยหนุนจากต้นทุน “ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล (B100)” ด้วยราคาวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และสารเคมีลดลง

กลุ่มธุรกิจที่ 5 ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ มี EBITDA รวม 5,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 44 % และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 27 % จากปริมาณจำหน่ายของ OKEA ASA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อน100 % เนื่องจากมีปริมาณการจำหน่ายได้มากกว่ากำลังการผลิตตามสัญญาการขาย 2 Cargoes จากแหล่งผลิต Draugen และรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากแหล่งผลิต Brage ที่โอนกิจการมาจาก Wintershall Dea

ส่งผลให้ไตรมาสนี้ OKEA ทำสถิติรายได้สูงสุด และยังแสวงหาโอกาสลงทุนขยายธุรกิจต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ลงนามสัญญาซื้อขายแหล่งปิโตรเลียม Statfjord บนไหล่ทวีปนอร์เวย์ (Norwegian Continental Shelf – NCS) 28% ทำให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากระดับ 20,000-25,000 บาร์เรลซึ่งคาดธุรกรรมซื้อขายจะสำเร็จลุล่วงในไตรมาสสุดท้ายปี 2566

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มว่าแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2566 ราคาน้ำมันดิบจะยังคงได้รับแรงกดดันจาก
ความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะในยุโรป แต่ยังมีปัจจัยความกังวลอุปทานตึงตัวเพิ่มขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน อีกทั้งค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท Cracking ที่สิงคโปร์มีแนวโน้มปรับลดลงจากไตรมาสแรก และจากสถานการณ์ด้านราคาพลังงานยังผันผวน ผนวกกับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน บริษัทฯ จึงติดตามราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดควบคู่กับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการทำงาน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน#gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen