กทม.-บพท.-พอช. รุกแก้โจทย์ใหญ่คนจนเมืองดีเดย์ ส.ค.65 ปูพรม 3 เขต “ป้อมปราบ-พระโขนง-คันนายาว” 1.9 หมื่นครัวเรือน



  • บพท.พอช.แท็กทีม กทม.ดึง 2 มหาลัย “ธรรมศาสตร์-สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”
  • รุกปลดล็อกปัญหาใหญ่ “คนจนเมือง” แบบเบ็ดเสร็จแม่นย่ำ
  • ดีเดย์ สิงหามหามงคล นำร่อง 3 เขต “ป้อมปราบศัตรูพ่าย-พระโขนง-คันนายาว”
  • ตั้งเป้าปูพรมฟังเสียงคนจนกว่า 19,000 ครัวเรือน

นายกิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท.ได้บรรลุความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานครแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วยองค์ความรู้ที่บพท.กับมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างได้ผลมาแล้วใน 20 จังหวัด

วางแผนทำโครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  เขตพระโขนง และเขตคันนายาว โดยมี ดร.พงษ์พิศิษฐ์  หุยากรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีชุดความรู้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำใน 20 จังหวัดเป็นแม่แบบ

ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การคัดเลือกพื้นที่นำร่องในกรุงเทพฯ 3 เขตนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาความยากจนนั้นได้อาศัยบทเรียนการทำงานแก้จนของ บพท.ใน 20 จังหวัด เป็นแนวทางดำเนินการ เพื่อวางแผนปูพรมเก็บข้อมูลคนจนอย่างละเอียดให้ได้ไม่น้อยกว่า 19,000 ครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 เขต โดยแบ่งความรับผิดชอบให้สถาบันการศึกษาชั้นนำเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบการแก้ปัญหาความยากจน ประกอบด้วย

เขตพื้นที่ 1 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ดูแลโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขตพื้นที่ 2 พระโขนง ดูแลโดยคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร

เขตพื้นที่ 3  เขตคันนายาว ดูแลโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นไป จะเริ่มดำเนินโครงการแก้ไขความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะโดยจะใช้ฐานข้อมูลคนจนจากข้อมูลสำมะโนประชากรของฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก เพื่อวางแผนปูพรมเก็บข้อมูลคนจนอย่างละเอียดให้ได้ไม่น้อยกว่า 19,000 ครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 เขต     

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครในยุคนี้มีความตั้งใจและจริงจังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาคนจนเมือง รวมทั้งยังรู้สึกดีใจมากที่ได้สนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาคนจนเมืองร่วมกับหลายหน่วยงาน เนื่องจากกระบวนการแก้ปัญหาคนจน ควรจะเป็นต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลก่อนแล้วนำไปวิเคราะห์และออกแบบแนวทางแก้ปัญหา

ซึ่งเป็นความพยายามของหน่วยงานที่เข้ามาร่วมำกัน ต้องการทำให้คนจนมีบ้าน แล้วหาหนทางช่วยเขาเข้าหาแหล่งเงินทุนได้ และช่วยพัฒนาให้เขามีอาชีพที่ดีขึ้น ซึ่ง บพท.ได้มีประสบการณ์อยู่แล้วเป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จที่ดี

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอยืนยันจะให้ความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายในการเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปด้วยกัน และยินดีที่จะรับเอาชุดความรู้ในการแก้ปัญหาความยากจนไปสานต่ออย่างเต็มที่ โดยส่วนตัวเชื่อเสมอไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่ไหนที่ไม่สามารถทำไม่ได้ หากทุกฝ่ายความพยายามทำอย่างเต็มที่

“ผมยังใช้คำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้ “แม้ไม่เห็นฝั่งเราก็จะว่ายไปท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลายไม่เสร็จเพราะเพียงคิดเท่านั้น  จะทำโภคะให้สำเร็จต้องทำวันนี้ เราเริ่มจุดที่สำคัญที่จะเดินหน้าหาความแม่นยำหากระบวนการที่จะทำให้งานนี้เดินต่อไปได้

กรุงเทพมหานครต้องขอบคุณสภาอุตสาหกรรมได้ส่งตัวแทนมาร่วมด้วย รวมทั้งมีตัวแทนจากหน่วยต่าง ๆ  ได้แก่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ตัวแทนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ บพท.และ พอช.สนับสนุนอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้ภารกิจนี้ลุล่วงเป็นโมเดลต้นแบบที่เข้มแข็งในอนาคตต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen