

- เตรียม 14 พื้นที่สำหรับฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล
- ใช้บริษัท ห้าง ปั๊มน้ำมันทั่วกรุงเปิดให้บริการประชาชน
- ดีเดย์เริ่มฉีดได้เดือนมิ.ย.นี้เป็นต้นไปตั้งเป้าฉีดเสร็จสิ้นปี
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความร่วมมือกับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ในการจัดจุดให้บริการฉีดวัคซีนให้คนในกรุงเทพฯว่า ในเดือนมิ.ย.64 กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับนำไปให้บริการแก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยมีเป้าหมายฉีดครอบคลุมอย่างน้อย 70% ของประชากรในกรุงเทพมหานคร หรือ 5 ล้านคน

ดังนั้น กทม.จึงจัดให้บริการวัคซีนในโรงพยาบาลควบคู่กับการให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งในส่วนของการฉีดในโรงพยาบาล กทม.ได้เตรียม โรงพยาบาลทุกสังกัดกทม. 11 แห่ง และโรงพยาบาลอื่นๆ อีกรวม 115 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรือรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ส่วนหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ได้กำหนดว้ 14 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านสถานที่ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ จากหอการค้าไทย ประกอบด้วย 1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) บางซื่อ ฉีดได้ 2,000 คน/วัน และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว 2,000 คน/วัน 2.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 4 แห่ง ได้แก่ สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน 1,500 คน/วัน, ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง 1,000 คน/วัน, ทรู ดิจิทัล ปาร์ค เขตพระโขนง 1,000 คน/วัน และเอเชียทีค เขตบางคอแหลม 2,000 คน/วัน
3.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ 2,000 คน/วัน, โรบินสัน ลาดกระบัง 1,000 คน/วัน และโลตัส มีนบุรี 1,000 คน/วัน 4.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย 1,000 คน/วัน และไอคอนสยาม เขตคลองสาน 1,000 คน/วัน 5.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. พระราม 2 เขตบางขุนเทียน 1,500 คน/วัน, เดอะมอลล์ บางแค 2,000 คน/วัน และบิ๊กซี บางบอน 1,500 คน/วัน รวมให้บริการได้ทั้งสิ้น 20,500 คนต่อวัน

“การให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 แห่ง จะให้บริการแก่ประชาชนที่จองรับวัคซีนมาก่อน โดยกระบวนการให้บริการวัคซีนที่หน่วยมี 5 ขั้นตอน คือ 1. การลงทะเบียน/ชั่งน้ำหนัก/วัดความดัน 2. คัดกรอง/ซักประวัติ 3. ฉีดวัคซีน 4. สังเกตอาการ และ 5.รับใบนัด/คำแนะนำ โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อรายประมาณ 45 นาที โดยหน่วยฉีดวัคซีนทั้งในโรงพยาบาล และนอกโรงพยาบาล จะเริ่มในเดือนมิ.ย. – ธ.ค.64 โดยจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนทาง LINE Official Account V.2 “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นไป”
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทย ได้ประชุมร่วมกับทีมปฏิบัติงานด้านสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน 14 แห่ง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของแต่ละสถานที่ ขั้นตอนในการฉีดวัคซีน บุคลากร และอุปกรณ์จำเป็น ที่จะดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค.นี้ โดยทั้ง 14 แห่ง ประชาชนสามารถเดินทางเข้ารับการบริการได้สะดวก ในกรณีฉุกเฉินสามารถนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ภายใน 10 นาที มีการถ่ายเทอากาศที่ดีและมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการจัดบริการฉีดวัคซีน มีระบบอินเตอร์เน็ต รองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีห้องน้ำ และจุดพักสังเกตอาการ 30 นาที
ส่วนความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ว่า การใช้มาตรการป้องกันที่เข้มข้น และหลายจังหวัดล็อกดาวน์ คาดจะทำให้เงินหายไปจากระบบประมาณ 100,000-150,000 ล้านบาท หรือหากระบาดต่อเนื่อง 2-3 เดือน เงินจะหายไปกว่า 300,000 ล้านบาท แต่หากรัฐบาล คุมการระบาดได้ และฉีดวัคซีนได้เร็ว รวมถึงอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีกกว่า 380,000 ล้านบาท ตามที่รัฐเตรียมเงินไว้ คาดว่า ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3% ส่วนไตรมาส 4 จะโตได้ 4% และทั้งปี 64 จะโตได้ 1.5-3%