“ศิริกัญญา” แนะรัฐบาลควรยอมรับว่าสื่อสารผิดพลาดเรื่องขึ้น VAT 15% ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างภาษีล้มเหลว ด้าน “พิธา” แนะรัฐบาลปฏิรูปภาษีทั้งระบบ มากกว่าปรับขึ้น VAT 15%
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน) ทวีตข้อความผ่าน X ว่า เรื่องตลกประจำวัน เขาหาว่าดิฉันต่อต้านการขึ้นภาษีและการปฏิรูปภาษี 2 วันมานี้ สิ่งที่ทำคือไปออกรายการต่างๆ แล้วแก้ต่างแทนรัฐบาลเรื่องขึ้น VAT ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ถดถอย คนจนไม่ได้จ่ายเยอะกว่าคนรวย
แต่คนรายได้ปานกลางจ่ายเยอะสุด ไม่กลัวที่จะต้องร่วมรับทัวร์ เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสังคมต้องทำความเข้าใจใหม่ แน่นอนว่าเราไม่ได้เห็นด้วยกับการขึ้นไปถึง 15% แต่ถ้าจะขึ้น ขึ้นแค่ 10% และขึ้นอย่างช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
รวมทั้งมีมาตรการบรรเทาผลกระทบแบบที่สิงคโปร์ทำ คนจากรัฐบาลเองต่างหากที่ปล่อยจอย ไม่ออกมาให้ข่าวใดๆ เรื่องการขึ้น VAT 15% ทั้งๆ ที่มันลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์ สื่อทุกสื่อพูดเรื่องสูตร 15-15-15
และยัง ทวีตอีกว่า แม้แต่นายกฯ เองที่ควรจะให้ข่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ตอนสื่อยื่นไมค์ ก็กลับไม่พูดอะไรเลย ปล่อยให้คนพูดกันต่อไปว่าจะขึ้น VAT 15% แล้วค่อยมาโพสต์ลง X ว่าไม่มีการปรับขึ้น ส่วนการลดภาษีแน่นอนว่าไม่เห็นด้วย
เหตุผลที่จะลดฟังไม่ขึ้นอย่าง ที่ได้อธิบายไปในโพสต์ก่อนหน้าเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คุณอยากชี้นิ้วด่า หาคนผิดยังไงก็ได้ แต่ยอมรับเถอะว่าการสื่อสารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองนี่แหละที่สุดท้ายจะทำให้การปฏิรูปโครงสร้างภาษีล้มเหลว
ด้าน พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงแนวคิดนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ถึงการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% และปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% ว่า รัฐบาลควรจะต้องศึกษาระบบเศรษฐกิจของไทยให้มากกว่านี้
ตอนนี้ชาวบ้านจะอดตายอยู่แล้ว ทุกวันนี้ข้าวของก็แพงอยู่แล้ว จะมาเพิ่มภาษีส่วนนี้อีก ราคาสินค้า บริการต่างๆ จะแพงมากขึ้นอีก
ขออย่าซ้ำเติมพี่น้องประชาชนอีกเลย การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีผลกระทบต่อนายทุนหรือเจ้าสัว เพราะนายทุนหรือผู้ประกอบการสามารถหักภาษีซื้อภาษีขายไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
แต่เป็นการผลักภาระการหารายได้ให้แก่รัฐบาลไปยังคนจนคนมีรายได้น้อย เปรียบเสมือนกับปล้นคนจน เอื้อคนรวย
“พิธา” แนะรัฐบาลปฏิรูปภาษีทั้งระบบ
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงดรามาประเด็นการขึ้นภาษีแวต 15% ว่า ภาษีในประเทศมีทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม ทั้งนิติบุคคล บริษัท ส่วนตัว รวมไปถึงภาษีที่ดิน สรรพสามิต ศุลกากร และอีกมากมาย
ทำไมต้องมาเจาะจงที่แวต ตนสนับสนุนให้มีการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ซึ่งต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าบริหารจัดการให้เพียงพอต่อทั้งประเทศ และต้องเป็นธรรมอย่างไร
“พอรัฐบาลบอกว่า 15 : 15 : 15 คนที่ไม่เคยเสียภาษีในระดับ 15% ต้องมาเสีย 15% บริษัทนิติบุคคลที่เคยเสียภาษี 30% ก็ได้ลดสิ ใช่หรือไม่ เวลาหาเสียงขึ้นเวทีที่ไหนผมไม่เคยได้ยินว่าให้เสียแวตเกิน 9% นะ เท่าที่ผมจำได้ มีแต่ขึ้นทีละนิด
เพื่อไม่ให้ลำบากประชาชนมากขึ้น พอไม่พูดทั้งระบบ แล้วมาเจาะจงที่แวต มันทำให้ผิดบริบทไป เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับการปฏิรูปภาษีทั้งระบบทุกตัว ถ้าพูดทั้งระบบ แล้วมาอธิบายทีละอัน ผมคิดว่าก็จะไม่ได้รับการต่อต้าน” นายพิธากล่าว
นายพิธากล่าวต่อว่า อยู่ดีๆ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็โพล่งมาที่แวต 15% แล้ววันต่อมาก็เป็น 15 : 15 : 15 ก็เลยทำให้ไม่ได้รับการตอบรับ
ดังนั้น จึงอยากฝากไปถึงนายพิชัย และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าการปฏิรูปภาษีทั้งหมดต้องมองทั้งระบบ อย่าเจาะจงที่อันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสับสนและไม่ได้รับการยอมรับ
เมื่อถามว่า ตัวเลข 15% เป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ เขาตอบว่า เท่าที่ฟัง นายพิชัยบอกว่าทั่วโลกเขาเก็บกัน 15-25% คิดว่านายพิชัยน่าจะดูค่าเฉลี่ยโลกโดยที่ไม่ได้ดูบริบทประเทศไทยหรือไม่ ขอให้โอกาสนายพิชัยได้อธิบายว่าทำไมต้อง 15%
“ตอนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ กัน เคยพูดเรื่องปฏิรูปภาษี เรื่องแวต หรือแม้กระทั่งการอภิปรายในสภาที่มีงบประมาณ เคยมีการพูดกันถึง 9% แต่ว่า 15% ตัวเลขมาจากไหนผมก็ไม่เข้าใจ ต้องฝากถามด้วยว่าตัวเลข 15% มาจากไหน”
เมื่อถามว่า การเสนอลักษณะนี้บ่งบอกได้หรือไม่ว่ารัฐบาลถังแตก นายพิธาตอบว่า บ่งบอกอะไรไม่ได้เลย เพราะมันไม่รู้บริบท อยู่ดีๆ ก็โพล่งมา ถามตนไม่ได้ ต้องถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ถามนายกรัฐมนตรี ถามรัฐบาลว่าทำไมอยู่ดีๆ ต้องขึ้น ทำไมต้องขึ้น 15% แล้วภาษีตัวอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมจะทำอย่างไรต่อ
มองเป็นแนวความคิดของรัฐบาลที่ต้องการหาเงินเข้าคลัง
ด้านนายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นแค่แนวความคิดของรัฐบาลที่ต้องการหาเงินเข้าคลัง หลังจากที่รัฐบาลต้องใช้เงินในการช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมหรือเงินสวัสดิการ เพราะจะต้องมีอีกหลายขั้นตอน จึงจะสรุปได้ว่าจะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
“ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2540 เคยมีแนวคิดในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% มาแล้ว หากเลือกได้ผมเองอยากให้ภาครัฐปรับตัว ใช้มาตรการกลไกภาษีต่างๆ ก็จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น อะไรที่ไม่จำเป็น อะไรที่สูญเปล่าก็ช่วยกันลด
พร้อมกับหาธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ มูลค่าสูง หรือ New S-Curve ก็จะทำให้การจัดเก็บรายได้มากขึ้น
ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวก็จะต้องเป็นท่องเที่ยวมูลค่าสูง ที่ดูแลใส่ใจคุณภาพสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสุขภาพ จะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และจะทำใประเทศได้พัฒนาขึ้นไปได้
เพราะตอนนี้งบประมาณส่วนใหญ่นำไปลงทุนในการก่อสร้างการคมนาคม แต่ยังไม่ได้มาส่งเสริมเรื่องอุตสาหกรรมใหม่มูลค่าสูง จึงทำให้มีแต่ตัวเลขรายจ่ายมากกว่ารายได้”
นายชาญณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า ในการใช้จ่ายของภาครัฐ เมื่อเก็บภาษีไปแล้วแต่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศช้า ทำให้เงินค้างในคงคลัง เงินไม่สามารถที่จะกระจายลงมาหมุนเวียนเศรษฐกิจจนนำไปสู่การนำเงินไปใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ส่วนการที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15 % นั้น
ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ค่อนข้างเปราะบาง ดูจากตัวเลขยังไม่โตขึ้น จากคุยกันตัวเลขการเติบโตจาก 9% ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 2% รายได้ของประชาชนยังไม่เพิ่ม สินค้าก็ยังแพง หากจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มควรที่จะเก็บ 10% เท่านั้น
“จตุพร” ชี้เก็บแวตกระทบคนชั้นล่าง
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังพินาศย่อยยับ แต่รัฐบาลต้องการเงินเพิ่มอีก 2.5 ล้านล้านบาทมาใช้จ่ายการแจกเงินแบบประชานิยม แต่มาเพิ่มการเก็บภาษีแวต
ทำให้คนชั้นกลางลงมาชั้นล่างได้ผลกระทบสูงสุด แล้วยังจะลดภาษีนิติบุคคลให้คนรวยไม่ต้องเดือดร้อนอีก จึงสะท้อนถึงปัญหาการทำงานแก้เศรษฐกิจที่โฆษณาเป็นจุดเด่นทางการเมือง
อีกอย่างเศรษฐกิจล้มระเนระนาด โรงงานทยอยปิด ส่วนที่เหลือมีสภาพปางตาย ให้คนงานทำงานน้อยลงเพื่ออยู่เฝ้าโรงงานไว้ จึงเป็นความสาหัสทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลขึ้นค่าแรงแบบพุ่งพรวดมาซ้ำเติมอีก เศรษฐยิ่งย่ำแย่หนักไปอีกหลายเท่า
เมื่ออดีตพรรคเพื่อไทยมีประวัติสวยหรูกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แล้ววันนี้ได้แก้ปัญหาอะไรสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมหรือเปล่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร
กลับโยนหินถามทางในแต่ละเรื่อง ไม่ได้เป็นคุณอะไรต่อประชาชนเลย
กรณีแวต อ้างอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งที่สภาพบ้านเมืองอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน แต่จะขึ้นแวตซ้ำเติมคนจนต้องเดือดร้อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “ศิริกัญญา” แบไต๋เงินดิจิทัล วอลเล็ต เบ่งงบ68 ออกงบกลางปี67 ยืมธ.ก.ส.
: พรรคประชาชน