

- TTAA ยัน “คนไทยเที่ยวนอก” ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แพกเกจทัวร์ขายคึกคัก 5 ประเทศ “ญี่ปุ่น-เวียดนาม-เกาหลี-สิงคโปร์-สสป.ลาว”
- แพกเกจ 4 วัน 3 คืน ญี่ปุ่น เฉียด 40,000 บาท/คน/ทริป สปป.ลาว เฉียด 20,000 บาท/คน/ทริป
- ภาพใหญ่ “ราคาตั๋วบิน” พุ่งแรงต่อเนื่อง ปี’66 ภาพรวมฟื้น 80 % จับตา “ปัญหาคอขวดทุกสนามบิน” เจอตอใหญ่แก้ยาก 2 เรื่อง
- 1.กระเป๋าสัมภาระล่าช้า 2.คิวตรวจหนังสือเดินทางนานเกินชั่วโมง ปีหน้า “ไทยเที่ยวไทย” ยังเป็นดาวเด่นทำเงินให้บริษัททัวร์ได้
นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการการท่องเที่ยว (TTAA-Thai Travel Agents Association) เปิดเผยว่า ตอนนี้เข้าฤดูท่องเที่ยวหน้าเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการเปิดให้เข้าไปเที่ยวได้มากขึ้น คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเลือกจุดหมายปลายทางในเอเชียเรียงตามลำดับ 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี สิงคโปร์ และ สสป.ลาว เพื่อนบ้านซึ่งเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวก่อนใคร

ปี 2566 สถานการณ์ธุรกิจนำคนท่องเที่ยวไปต่างประเทศจะฟื้นกลับมาได้ประมาณ 80 % เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากคู่ค้าทุกประเทศในอาเซียน เอเชีย ยุโรป ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับทางบริษัทนำเที่ยวในกลุ่มสมาชิกสมาคมทีทีเอเชียเป็นจำนวนมาก ถือเป็นสัญญาณที่ดีพอสมควรในการธุรกิจกลับมาอีกครั้ง
“ญี่ปุ่น” ระยะแรกได้กำหนดให้นักท่องเที่ยวซื้อรายการทัวร์ผ่านบริษัทนำเที่ยวเป็นหลัก เพื่อให้มีลีดเดอร์ในการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเนื่องจากมีเงื่อนไขการเข้าประเทศเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ส่วน “ราคาทัวร์” จะเน้นสมเหตุผล ตอนนี้ต้องยอมรับต้นทุนค่าตั๋วเครื่องบินราคาสูงแพกเกจท่องเที่ยวก็จะขยับตามขึ้นไปด้วย

ปัจจุบันคนไทยนิยมซื้อแพกเกจเที่ยวญี่ปุ่น 4 วัน 3 คืน ราคาประมาณเกือบ 40,000 บาท/คน/ทริป และ 5 วัน 4 คืน จะประมาณกว่า 42,000 บาทขึ้นไป/คน/ทริป
สถานการณ์ช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า 2565 ต้อนรับปีใหม่ 2566 จะมีตัวแปร 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก “ตั๋วเครื่องบินหรือที่นั่งเดินทาง” ไป-กลับ ไทย-ญี่ปุ่น จะมีเฉพาะวันธรรมดาที่ไม่ค่อยมีคนเดินทาง ช่วงก่อนปีใหม่ 5 วัน และหลังปีใหม่ 5 วัน ส่วนวันสวย ๆ เช่นหยุดต่อเนื่อง 30 ธันวาคม 2565– 5 มกราคม 2566 ที่นั่งสายการบินเกือบทุกสายจองซื้อเต็มเกือบหมดแล้ว ปัจจัยที่ 2 “บริษัทนำเที่ยวจะไม่จองที่นั่งไว้จำนวนมาก” จะจองตามจำนวนยอดขายจริงเท่านั้น และจะไม่ตุนไว้มาก ๆ อีกแล้ว

โดยภาพรวมคนไทยเดินทางเที่ยวต่างประเทศหรือ Outbound ช่วงธันวาคม 2565-มกราคม 2566 ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีตัวแปรเรื่อง “ดีมานต์กับซัพพลาย” จากอุปสรรคเรื่องผู้ประกอบการทั้งในเมืองไทยและอีกหลายประเทศต่างก็เจอปัญหาใหญ่เรื่องเดียวกันคือ “คนทำงานยังไม่กลับเข้าระบบ” ประเด็นนี้จึงส่งผลต่อ “ราคาท่องเที่ยวสูงพอสมควร”
ขณะที่ “สสป.ลาว” ตอนนี้เข้าหน้าหนาวคนไทยจองแน่นมากช่วงวันหยุดยาวการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ไทย-สสป.ลาว หรือเที่ยวบินเต็มเกือบหมดแล้ว แพกเกจที่ได้รับความนิยม 5 วัน 4 คืน ราคา 18,00019,000 บาท/คน/ทริป แหล่งท่องเที่ยวหลัก หลวงพระบาง วังเวียง เวียงจันทน์ ส่วนเมืองบริเวณอื่น ๆ มีบ้างแต่จำนวนไม่มาก เช่น เมืองที่อยู่รอยต่อกับหลวงพระบาง มีวัฒนธรรมเก่า ผู้คนไม่แออัดมากนัก
แนวโน้มปี 2566 “ตลาดคนไทย” ที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหรือ Domestic ยังคงเป็นดาวเด่น ส่วนการเที่ยวต่างประเทศหรือ Outbound ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลักคือประเทศจุดหมายปลายทางได้ผ่อนปรนการเข้าเมืองมากขึ้น สิ้นปี 2565 เอาท์บาวนด์กลับมาประมาณ 30 % รวมทั้งบริษัทนำเที่ยวจะต้องคัดเลือกสินค้าตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ส่วน “ราคาตั๋วโดยสาร” จะลดความร้อนแรงลงบ้างจากปัจจัย

1.มีสายการบินนานาชาติกลับมาเปิดบินเพิ่มขึ้นทำให้มีจำนวนที่นั่งเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น
2.องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วโลก (NTOs -National Tourism Organization) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงขณะนี้บริษัทนำเที่ยวไทยต้อนรับทุกชาติ ทั้งจากยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน หรือญี่ปุ่นมากันทั้งเกาะเหนือ เกาะใต้ เช่นเดียวกับ เกาหลี ไต้หวัน แต่ละประเทศบุกมาเจาะในไทยหนักมากเพราะต้องการส่วนแบ่งตลาดเข้าไปใช้จ่ายเงินได้ในเวลาอันรวดเร็ว
3.ขณะนี้ทุกสถานฑูตต่างประเทศในไทยให้ความร่วมมือดีมาก เพราะทุกประเทศต่างก็ต้องการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ส่วน “อุปสรรค” การเดินทางเข้าแต่ละประเทศของคนไทย คือ แต่ละประเทศมี “เงื่อนไข” แตกต่างกันไป ดังนั้นทางสมาคมไทยบริการการท่องเที่ยว จึงได้คำแพลตฟอร์มเปิด “ห้องข่าว” สมาชิกให้ความร่วมมือนำข้อมูลมาแชร์แลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาไปด้วยกัน
ขณะที่ “สนามบินของไทย” ที่จะเป็นประตูเข้าออกประเทศของทั้งคนไทยและต่างชาติ ตามปกติผู้บริหารสนามบินค่อนข้างมีความชำนาญมากเพียงพอ แต่จะต้องสร้างมาตรฐานที่ดีเป็นแม่เหล็กดึงดูดสร้างความประทับใจกับนักท่องเที่ยวไม่ควรจะใช้เวลาให้บริการเฉลี่ยไม่ควรเกิน 45 นาที/คน/ครั้ง

โดยเฉพาะปัญหาหลักที่ผู้โดยสารคนไทยและทั่วโลกเผชิญเหมือนกันทุกสนามบิน 2 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1“สัมภาระกระเป๋าผู้โดยสารล่าช้า” ไม่ได้รับความสะดวก เรื่องที่ 2 ยืนเข้าคิวรอตรวจหนังสือเดินทางบริเวณเคาน์เตอร์สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) บริษัทนำเที่ยวได้อธิบายกับลูกค้าของตนเองมาตลอดว่าหลังสถานการณ์โควิดทั้งสองปัญหานี้เกิดขึ้นกับเกือบทุกประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ผมเพิ่งกลับมาตรงเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองใช้เวลา 2.30 ชั่วโมงส่วนสุวรรณภูมิใช้เวลา 1 ชั่วโมง ฉนั้นผู้บริหารจะต้องลงไปตรวจหาข้อมูลถึงสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคอขวดในสนามบินเพื่อจะได้สร้างความสบายใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งหมด
นายเจริญ กล่าวว่า เมื่อคนไทยมีโอกาสกลับมาเดินทางอีกครั้ง หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องหยุดกันไปชั่วคราว จึงขอให้ทุกคนดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย การศึกษาข้อมูลของแต่ละประเทศก่อนเดินทางทุกครั้ง และขอให้มีความสุขกับการเดินทางไปหาประสบการณ์ใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจและช่วยฟื้นธุรกิจให้กลับมาคึกคักต่อไป
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใย สามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen