หลังจาก “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกำลังจะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.68
หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจหลายสำนักของไทย ต่างคาดการณ์กันว่า นโยบายหาเสียงของนายทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน ทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย
ล่าสุด “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และเศรษฐกิจของไทยไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
นโยบาย “ทรัมป์” ฉุดจีดีพีไทย
หาก “นายทรัมป์” ดำเนินทุกอย่างตามที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% จากประเทศอื่นที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ รวมถึงไทย 10-15% และลดพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศนั้น
ศูนย์ฯประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ หรือเสียหายถึง 160,472 ล้านบาท ทำให้การส่งออกไทยลดลง 1.52% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.87%
โดยความเสียหายดังกล่าว แบ่งเป็น ความเสียหายทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯลดลง 108,714 ล้านบาท หรือการส่งออกลดลง 1.03%และจีดีพีลดลง 0.59%
และความเสียหายทางอ้อมจากการส่งออกวัตถุดิบไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของทั้งจีนและสหรัฐฯลดลง 51,758 ล้านบาท หรือส่งออกลดลง 0.49%และจีดีพีลดลง 0.28%
สินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ที่ในช่วง 5 ปีย้อนหลังมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯรวมกันเกือบ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางตรงด้านอื่นอีก คือ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากนโยบายกีดกันการค้าและการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ที่อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า, การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงจากนโยบาย “อเมริกามาก่อน” และการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ
ส่วนผลกระทบทางอ้อมอื่น คือ ไทยต้องรับมือกับการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน จากการที่ส่งออกไปสหรัฐฯได้น้อยลง เพราะถูกเก็บนำเข้าสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ สิ่งทอ
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯแทนสินค้าจีน ทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ของเล่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องเรือนและของแต่งบ้าน อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์
ปี 68 ส่งออกไทยคาดโต 0.72-1.24%
จากการประเมินผลกระทบดังกล่าวข้างต้น กรณีที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้าจีน 60% และไทย 10% คาดการณ์ได้ว่า การส่งออกไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.24% มูลค่า 297,892 ล้านเหรียญฯ
และกรณีแย่ที่สุด หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มเป็น 15% และจีนยังคงโดนที่ 60% การส่งออกไทยจะขยายตัวเพียง 0.72% มูลค่าเหลือ 296,339 ล้านเหรียญฯ
ที่สำคัญ หากดุลการค้าของสหรัฐฯยังไม่กลับสู่ภาวะ “สมดุล” ก็มีโอกาสที่ “นายทรัมป์” จะเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสมดุล ซึ่งจะยิ่งทำให้การส่งออกไทย ลดลงได้มากกว่านี้
แต่ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ ไม่ดำเนินนโยบายใดๆ เลย คาดว่า ปี 68 การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ถึง 2.80% มูลค่า 302,477 ล้านเหรียญฯ
จากปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจโลก และการค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น, อัตราเงินเฟ้อโลกชะลอตัว ทำให้หลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว
โดยสินค้าส่งออกหลัก ที่จะช่วยขับเคลื่อนการส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่แข็ง อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ
หวั่นไทยเสียเปรียบคู่แข่ง “เวียดนาม”
สำหรับความเสียหายของเศรษฐกิจไทยจากนโยบายของ “นายทรัมป์” ที่ประเมินจะสูงถึง 160,000 ล้านบาทนั้น “นายธนวรรธน์ พลวิชัย”อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า มากกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาใช้แจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบางในรอบแรกที่ 145,000 ล้านบาท
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยย่อลงทันทีเกือบ 1% โดยหากปีหน้า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัว 3% ผลกระทบนี้ จะทำให้ขยายตัวได้เพียง2% กว่าๆ เท่านั้น
และหากสหรัฐฯเพิ่มการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ จนกว่าจะ “สมดุล” จะยิ่งทำให้การส่งออกไทยได้รับผลกระทบมากขึ้น และจะฉุดให้จีดีพีไทยลดลงได้อีก เพราะปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตา พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ อย่างเวียดนาม ที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 67 มากถึง 67,858 ล้านเหรียญฯ อยู่ในอันดับ 2 รองจากจีนที่ 351,524 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทย อันดับ 9 ที่ 23,210 ล้านเหรียญฯนั้น
สหรัฐฯจะเก็บภาษีนำเข้าหรือไม่ หรือหากเก็บ จะเก็บในอัตราเท่าไร จะมาก น้อย หรือเท่ากับไทย ซึ่งหากเก็บเท่ากับไทย ขีดความสามารถด้านการแข่งขันน่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก
แต่หากเก็บน้อยกว่าไทย จะทำให้การลงทุนของสหรัฐฯในจีน อาจย้ายฐานไปเวียดนามแทนที่จะมาไทย เพราะเวียดนาม มีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดมากกว่าไทย ขณะที่สหรัฐฯยังให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับเวียดนาม แต่ไทยถูกตัดสิทธิไปเกือบหมดแล้ว
แนะไทยเร่งสร้าง “เสน่ห์” ดึงลงทุน
นายธนวรรธน์ ย้ำว่า ก่อนที่เศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสงครามจริงจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ที่ยังยืดเยื้อนั้น จำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง และเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3%
พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี เช่น มาตรการ e-Receipt ที่นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี ที่จะช่วยอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจปลายปีไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย
“ปีหน้า รัฐบาลควรหาประเด็นท้าทาย คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 3% เพื่อสร้างโมเมนตัมให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างโดดเด่น และขยายตัวไม่หลุด 3% คนไทยจะได้ลืมตาอ้าปากได้ทั่วประเทศ
และทำให้ประเทศไทยจะมีเสน่ห์มากพอ ที่จะดึงดูดการลงทุน เพราะประเทศอื่นๆ โตเกิน 4% หมดแล้ว เราควรสร้างเสน่ห์ให้ไทยกลับมา” นายธนวรรธน์กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สภาพัฒน์ ชี้ ต้องรีบเตรียมตัวรองรับความไม่แน่นอนของนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์