หอการค้าไทย สรุป 7 ข้อเสนอ หนุนไทย หลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จัดทำเป็น “สมุดปกขาว” เสนอต่อรัฐบาล ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 42 ที่ จ.ชลบุรี
วันที่ 23 พฤศจิกายน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา หรือ สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี หอการค้าไทย จัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2567 ในปีนี้หอการค้าไทยจัดงานสัมมนา ภายใต้ ธีม สร้างไทยให้เติบโต สู่อนาคตที่ยั่งยืน (CONNECT FOR GROWTH: INNOVATING FOR OUR SUSTAINABLE FUTURE)
โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับธุรกิจของไทย”
นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับธุรกิจของไทย” โดยย้ำว่า การขับเคลื่อนประเทศหลังจากนี้ จะต้องใช้ดิจิทัลเป็นหลัก
ปัจจุบันการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล 12% และมองว่า สามารถขยายเป็น 30% ได้
โดยการทำงานทั้งระยะกลางและระยะยาว 3 เรื่อง คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต การสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านไซเบอร์
เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน และ การสร้างกำลังพลด้านดิจิทัล ที่ภาคธุรกิจกำลังขาดแคลน มีความต้องการแรงงานดิจิทัลปีละ 100,000 คน แต่กำลังผลิตมีประมาณ 25,000 คน เพื่อให้ทันกับความท้าทายกับการปรับไปสู่โลกของ AI
ซึ่งมีหลายจังหวัดเหมาะกับการ เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ (Smart City) โดยหนึ่งในนั้นคือจังหวัดชลบุรี และจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการ ยกระดับซึ่งจะเห็นผลในปี 2568
ทั้งนี้ นายประเสริฐ กล่าวว่า ความร่วมมือภาครัฐ และ เอกชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นอย่างมากความร่วมมือ เพื่อพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ (YPC) หอการค้าไทยและหน่วยงานภาครัฐหรือ ซึ่งเป็นข้าราชการรุ่นใหม่ในระดับซี 6,7,8 ในพื้นที่ทั่วประเทศ
จะเป็นตัวอย่างความสำเร็จและความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งรัฐบาลมีความยินดี เป็นอย่างมาก ที่จะให้ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย
- แนะผลักดันให้จีดีพีดีขึ้น
ขณะที่ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ “การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย” โดยระบุว่า อันดับแรก ไทย จะต้องแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างมายาวนาน ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน กับหนี้สาธารณะในระดับสูง
ซึ่งการแก้ปัญหานี้ มีวิธีเดียว คือ การผลักดันให้จีดีพีดีขึ้น เพราะการแก้หนี้ การพักหนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และยังมีปัญหาใหม่จากสงครามทางการค้า และนโยบายอเมริกันเฟิร์ส ของ โดนัลทรัมป์ ด้วยการเก็บภาษีศุลกากร อย่างน้อย 10-20% กับทุกประเทศ และเก็บจากจีน 60%
โดยอาจจะใช้วิธีเรียกมาเจรจาเป็นรายประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบกับไทยแน่นอน เพราะการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของ GDP ซึ่งไทย มีทางออกที่ดี คือ การพัฒนาจุดแข็งด้าน Soft Power ให้เป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่า โดยพัฒนาภาคบริการให้ดี เพราะการเก็บภาษีศุลกากรภาคบริการทำได้ยาก กว่าการเก็บภาษีสินค้า
ด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “EEC UPDATE” บอกว่า หนึ่งในแนวที่เอกชนเสนอ คือ การเพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ EEC ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าปราจีนบุรี มีความเหมาะสมมากที่สุด
และมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินการต่อ เพราะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองได้ โดยจะต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ขยาย EEC ซึ่งคาดว่าในกระบวนการสามารถดำเนินการได้ภายในปีหน้า โดยไม่ได้มอง เฉพาะให้เกิดการลงทุนใหม่เท่านั้น แต่มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการลงทุนเดิม สู่อุตสาหกรรมใหม่สีเขียว
โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น บริการที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ สุขภาพ การแพทย์ และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ถือว่าเป็นประโยชน์โดยเฉพาะในด้านพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น เหมาะสมกับนักลงทุนระยะยาว ที่ต้องการพื้นที่เยอะ จัดการระบบขนส่งได้ดีขึ้น และมีสาธารณูปโภคพร้อม
- 6 ข้อเสนอแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า เบื้องต้นมี 6 ข้อเสนอ ที่ต้องการเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่
1. ไทย ควรหาโอกาสจากสงครามทางการค้า โดยต้องวางตัวเป็นกลางและขยายการค้ากับอินเดีย ที่เชื่อมประโยชน์จากจีน และสหรัฐได้
2. การแก้หนี้ โดยใช้นโยบายการเงิน การคลัง ควบคู่กัน พร้อมกับการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
3.การเร่งนำเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงงานวิจัยและพัฒนา มาใช้ในภาคการเกษตรและอาหาร เพราะเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพื่อเปลี่ยนไปสู่การแปรรูปที่มีมูลค่า
4. ส่งเสริมการท่องเที่ยว และใช้ประโยชน์จาก Soft Power เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค
5. การใช้ดิจิทัล โดยเฉพาะการนำ Ai มาใช้ในภาคธุรกิจ
6. สร้างโอกาสในการเป็น ศูนย์กลางทางการศึกษา (Education Hub) ดึงดูดคนเก่งมาอยู่ในประเทศ ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องค่าแรง หากเราสามารถใช้ Pay by skills จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้แรงงานของเราเกิดความตื่นตัวและพัฒนาทักษะใหม่ๆ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเร่งด่วน ซึ่งได้เสนอนายกรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเชื่อมั่นว่า การตอบรับแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทย หลุดจาก กับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเชื่อมั่นว่า GDP ไทยปีหน้า
น่าจะเติบโตได้ตามที่หลายสำนักคาดไว้ไม่ต่ำกว่า 3% และหากมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ มีโอกาสที่ GDP จะกลับมาเติบโตเต็มศักยภาพได้ถึง 5%
สำหรับวันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.67) หอการค้าไทย จะสรุปผลการสัมมนา จัดทำเป็น “สมุดปกขาว” เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อรัฐบาล โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทนรัฐบาลรับมอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : หอการค้าไทย ปลื้ม TCEB นำพืชสวนโลกอุดร ปี69 ดันเศรษฐกิจอีสานโต
: หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย