สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ลุ้นมาตรการรัฐ หนุนค้าปลีกดันตัวเลขจีดีพีปีหน้า

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ลุ้นนมาตรการรัฐ หนุนค้าปลีกดันตัวเลขจีดีพีปีหน้า
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ลุ้นนมาตรการรัฐ หนุนค้าปลีกดันตัวเลขจีดีพีปีหน้า


สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยภาพรวมค้าปลีกตลอดปี 2567 พบว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาผลจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีจากภาครัฐแต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆและไม่สมดุล ทั้งประเภทร้านค้าปลีกและประเภทภูมิภาคเมื่อเทียบกับปี 2566

โดยร้านค้าปลีกประเภทแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์, สเปเชียลตี้สโตร์,และเชนภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 3-7%, ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง เติบโต 2-5% ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โตน้อยสุด 1-3% โดยเป็นการเติบโตแบบกระจุกตัวในกรุงเทพปริมณฑล ภาคตะวันออก และในเมืองตามจังหวัดท่องเที่ยวเท่านั้น พร้อม ชี้ค้าปลีกปี 2568 จะเป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพความหวังดันจีดีพีเข้าเป้า 

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกปี 2567 ยังไม่สดใสเท่าที่ควรจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการค้าปลีก อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเกินกว่า 37% ผลิตหรือสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสมไว้ก่อนแล้ว, การหดตัวด้านการลงทุน ที่ส่งผลต่ออัตราการจ้างงานและการบริโภค,หนี้ครัวเรือนสูง และภาระหนี้สินของเอสเอ็มอี รวมทั้งมาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดและยังต้องรอความชัดเจนในเฟสต่อไปที่จะแจกให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มอื่นๆ ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งอนาคตของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ไม่แน่นอนจากนโยบายภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายของประชาชน

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมองว่าทิศทางค้าปลีกปี 2568 คาดอาจจะเติบโตราว 3-5 %  เมื่อเทียบกับจีดีพีของปี 2568 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.3-3.3% ด้วยแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและส่งออกรวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ท่ามกลางความท้าทายจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้น และปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยสมาคมฯเชื่อว่าภาคค้าปลีกจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญอันดับต้นๆที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามเป้าหมายด้วยมูลค่าค้าปลีกและบริการกว่า 4.4 ล้านล้านบาทหากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ทั้งนี้สมาคมฯ ขอเสนอ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อร่วมกันกระตุ้นค้าปลีกไทยในปี 2568 อาทิ 

1. เดินหน้าลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปี 2568

-จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ขยายตัว 3% ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส โดยขยายตัวสูงถึง 25.9% ดังนั้นสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงมองว่าการลงทุนของภาครัฐจะเป็นกลจักรสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 ขณะเดียวกันรัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปี 2568 ให้ทันท่วงที และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายหลังการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า

– ส่งเสริมให้เกิดการกระจายเม็ดเงินโดยภาครัฐ ทั้งการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้รุดหน้า

2. เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

– เอสเอ็มอีในประเทศไทยมีมากถึง 3.2 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐจึงควรสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอีที่มีอยู่กว่า 2 ล้านราย ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง เช่น  ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย, การเพิ่มโอกาสทางการค้า การขยายช่องทางการตลาด การจำหน่ายสินค้า โดยในปี 2568 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เดินหน้าช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอีทั่วประเทศ          ตามนโยบาย “TRA GREAT” โดยจัดงาน ตลาดนัด SME สัญจร เปิดพื้นที่ให้ไมโครเอสเอ็มอี            นำสินค้ามาจำหน่ายภายในห้างร้านของสมาชิกฯ  เช่น  แม็คโคร,โลตัส, เซ็นทรัล, โก โฮลเซลล์, ไทวัสดุ ตลอดปี 2568 เป็นต้น 

-ออกมาตรการในการป้องกันการทะลักของสินค้าจีนราคาถูกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเอสเอ็มอีไทยในทุกแพลต์ฟอร์ม

3. เพิ่มการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศ

– คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างโมเมนตัมการใช้จ่ายอย่างได้ผล เช่น ช้อปดีมีคืน, Easy E-Receipt

ขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

– ส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของภาคผลิต ด้วยนโยบายจูงใจต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐกำลังเร่งเครื่องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

4. ยกระดับไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว

– กระตุ้นการท่องเที่ยวโดยโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเช่น พิจารณาลดภาษีสินค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีแผนยกเลิกเพดานภาษีหรือ Tax Free ทำให้สามารถซื้อสินค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 500,000 เยนต่อวันได้ ขณะที่ประเทศไทยอาจเริ่มต้นมาตรการ Tax Free (การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) กับยอดซื้อสินค้าทั่วไปที่มีมูลค่ารวมในการซื้อต่อท่านต่อวันในร้านเดียวกันเกิน 5,000 บาทขึ้นไป เป็นต้น 

-ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของต่างชาติด้วยเสน่ห์ซอฟต์เพาเวอร์ไทยด้านอาหาร วัฒนธรรมไทย ควบคู่กับการเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง มุ่งสู่เป้าหมายนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนในปี 2568

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยตอกย้ำเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตทุกระดับพร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบเพื่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยที่จะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/344703

https://thejournalistclub.com/tra-shop-for-refund-project-revise-2024/