

- “TCEB”ชี้เป้าไมซ์ปี’66ตื่นรับ5เทรนด์ใหม่ตลาดยุโรปทุ่มใช้เงินธุรกิจเข้ม3เรื่องใหญ่“ข้อมูล–ความยั่งยืน–ความเชื่อมโยงท้องถิ่น”
- เทรนด์คู่ค้าเน้น3เรื่อง“ความเท่าเทียม–ความยั่งยืน–นวัตกรรม”นำเครื่องมือประมูลงานไมซ์3อย่างเรื่อง“แผนพัฒนาอย่างยั่งยืน–การเดินทางสะดวกเข้าถึงง่าย–มีความพร้อมไมซ์ซิตี้”
- ติดอาวุธดันเศรษฐกิจโตดีสุด 3 ส่วน ภายใต้ตัวชี้วัดใหม่ 3 ด้าน “กระแสสังคม-เสียงของตัวแทนนานาชาติ-ความสุขจากงาน”
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ทีเส็บพร้อมกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ขานรับตลาดโลก 5 เทรนด์ใหม่ เทรนด์แรก ตลาดต่างประเทศช่วง 2 ปี ระหว่าง 2566-2567 ปัจจุบันไทยพึ่งพา 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษเนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ขณะนี้วางแผนรุกตลาดใหม่เพิ่ม 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ประเทศที่แยกตัวออกจากรัสเซียทั้ง CIS (ลัทเวีย ลิโทเนีย เอสโทเนีย) กับอุเบกิซสถาน คาซัคสถาน มีเที่ยวบินตรงพร้อมนำกลุ่มประชุม (meeting) และเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (incentive) เลือกมาไทย กลุ่มที่ 2 ตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ทำสัมพันธ์และสนับสนุนโครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Medical Tourism) รวมทั้งนักเดินทางกลุ่มคุณภาพไมซ์
แนวโน้มตลาดภาพรวมปี 2566 จะมีกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ (corporate) จัดส่งเสริมกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัลเข้ามายังเมืองไทยจำนวนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มขายตรงอย่าง ธุรกิจ Herbal Life กับแอมเวย์ จากคาซัคสถาน ธุรกิจประกัน (insurance) จากฮ่องกง ขนาดกลุ่มละ 3,000-8,000 คน/ทริป ธุรกิจยาเภสัชกรรม มีอินเซนทีฟเติบโตสูงเลือกมาไทยพื้นที่ กรุงเทพฯ เชียงราย กระบี่ พัทยา ซึ่งมีไมซ์จีนทยอยเข้ามาบ้างแล้ว ส่วนอินเดียเป็นตลาดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง

นักเดินทางไมซ์กลุ่มอินเซ็นทีฟจากตลาดต่างประเทศใช้จ่ายเงินเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65,000-80,000 บาท/คน/ทริปส่วนตลาดไกลจากยุโรป อเมริกา จะพักค้างคืนนานกว่า 7 วัน/คน/ทริป แล้วเดินทางต่อไปยังประเทศ CLMV กัมพูชา–สสป.ลาว–เมียนมา–เวียดนาม
เทรนด์ที่สอง “บริการใหม่จัดงานไมซ์” 3 เรื่อง ที่ธุรกิจในไทยจะต้องปรับตัวรับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ได้แก่
เรื่องที่ 1 บริษัทขนาดใหญ่หลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ “ข้อมูลหรือ DATA” โดยต้องการนำไปใช้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อใช้ปรับกลยุทธ์การตลาดทั้งท่องเที่ยวและไมซ์ควบคู่กันไป
เรื่องที่ 2 ความยั่งยืน (Sustainable) ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกปี ทำให้ต้องหันมาใส่ใจดูแลความยั่งยืนตั้งแต่ฐานรากในชุมชน ซึ่งมีความหมายต่อเศรษฐกิจ ไฮไลต์คือทำโครงการ “คาร์บอน ฟุตปริ๊นท์” ขณะนี้ทีเส็บได้นำเครื่องมือวัดอีเวนต์การจัดงานด้วยระบบ Cabonization ทั้งจากการจัดงานประชุม อีเวนต์ และสถานที่จัดประชุม เข้ามาใช้เต็มรูปแบบ
เรื่องที่ 3 ชุมชนไมซ์ หรือ Community Base MICE ใช้กับกลุ่มนักเดินทางคุณภาพวางแผนร่วมกับชุมชนเพื่อดึงดูดกลุ่มไมซ์ที่มีกำลังใช้จ่ายเงินสูง โดยเฉพาะตลาดมิลเลนเนียล กับ Gen X ต่างให้ความสนใจเรื่องราวของปราชญ์ชาวบ้าน (Local Wisdom) ทำให้เกิดความประทับใจ ช่วยสร้างความสนใจและเมืองให้มีจุดขายเพิ่มมากขึ้น

เมื่อปี 2565 ทีเส็บได้ออกแบบ 7 ธีมไมซ์ จากนั้นปี 2566 ได้เพิ่มธีมที่ 8 คือไมซ์เพื่อสุขภาพ (Health and Wellness) เนื่องจากหลังโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรซึ่งไทยมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่พอสมควร จึงมีกระแสตอบรับค่อนข้างดีตามเส้นทางการขาย ในภาคอีสาน ภาคเหนือ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ผนวกกับไทยกำลังประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพ Expo 2028 ก็เน้นธีม Health and Wellness ที่ภูเก็ตด้วยเช่นกัน
ด้วยแนะนำให้ไมซ์ทำกิจกรรมประชุมกลางแจ้ง สร้างทีมบิลดิ้ง ทำซีเอสอาร์ ซึ่งเป็นแกนกลางสำคัญขององค์กรขนาดใหญ่ ได้เลือกใช้สินค้าเดิม 7 Theme MICE ได้แก่ ไมซ์เชิงอาหาร (Gastronomy) ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทะเลการผจญภัย ลักชัวรี่ ทีมบิลดิ้ง และซีเอสอาร์
เทรนด์ที่ 3 นวัตกรรมในสถานที่จัดไมซ์ ทีเส็บทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเทรนด์โลกซึ่งหันมาสร้างความเท่าเทียมกัน โดยยกระดับให้เมืองจุดหมายปลายทางไมซ์ (MICE Destination) กับเมืองไมซ์ (MICE City) ทำให้เกิดการรวมความหลากหลายให้อยู่เป็นหนึ่งเดียวอย่างเท่าเทียมกัน แล้วให้บริการครอบคลุมทุกเพศทุกวัย รวมถึงการดูแล ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้บกพร่องทางร่างกาย/คนพิการ เป็นอย่างดี
เทรนด์ที่ 4 เครื่องมือที่จะนำไปใช้ประมูลสิทธิ์งานไมซ์ เนื่องจากก่อนตัดสินใจทางผู้จัดงานแต่ละประเทศจะสอบถามถึงพื้นที่ในแต่ละประเทศมีความพร้อมครบ 3 เรื่องหรือไม่ ได้แก่ 1.จะต้องมีแผนพัฒนาความยั่งยืน 2.ความเท่าเทียมกัน3.นวัตกรรม ซึ่งคนทั่วโลกหันมาใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ทีเส็บเองได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ทุกกลุ่มได้ใช้ คือThai Mice Connect โฟกัสเรื่องการทำออนไลน์ในระบบนิเวศน์ไมซ์มากขึ้น พร้อมกับเปิดตัวแคมเปญไมซ์ในประเทศโครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” เริ่มต้นเดือนเมษายน 2566 แนวโน้มจะมีองค์กรตื่นตัวร่วมโครงการจัดงานภายในจังหวัดและข้ามจังหวัดไม่น้อยกว่า 1,000 กลุ่ม เลือกเข้ามาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเสิร์ซหาข้อมูลหาจังหวัด สถานที่จัดงาน และ 7 ธีมไมซ์ เพื่อหาพาร์ทเนอร์ให้กับผู้จัดงานซึ่งมีคนลงทะเบียนอยู่ในแพลตฟอร์มนี้กว่า 10,000 ราย เกิดการจัดการทางการค้า (transactions) ของหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ ขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 รายการ
นางศุภวรรณกล่าวว่าอนาคตอีกระยะ 2-3 ปีหน้า ประเมินตัวแปรที่จะมีส่งผลต่อการเติบโตตลาดไมซ์ของไทยประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 สภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควันทางภาคเหนือ มีคำถามจากคู่ค้าอยู่เป็นระยะ ๆ
ปัจจัยที่ 2 ความสะดวกในการเดินทางและการเข้าถึงสถานที่จัดงานจะต้องครบองค์ประกอบจึงจะได้รับการพิจารณาดังนั้นทีเส็บจึงต้องการให้สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทย เปิดเที่ยวบินตรงเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากขึ้น รองรับสถานการณ์เดินทางปกติ ซึ่งจะเริ่มเติบโตมากขึ้นตามลำดับ
ปัจจัยที่ 3 การสร้างความพร้อมเมืองไมซ์ MICE CITY ของไทยมีอยู่ 10 เมือง (จังหวัด) แต่จะต้องขยายเพิ่มด้วยมาตฐานให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล แข่งขันกับอีกหลายประเทศเดินหน้าไปไกลมากแล้ว เช่น เกาหลี และอีกหลายประเทศ

เทรนด์ที่ 5 ไมซ์กับการมีส่วนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุด อนาคตธุรกิจจะต้องปรับแนวทางใหม่ 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 หน่วยงานหรือองค์กรควรจะตื่นตัวจัดการประชุมในองค์กร การจัดอีเวนต์ การจัดงานไมซ์ การแสดงสินค้าแต่ละภูมิภาค เป็นส่วนประกอบการสำคัญที่จะสร้างพื้นที่ทางการตลาดในภูมิภาคให้มากที่สุด
ส่วนที่ 2 สมาคม หน่วยงานภาครัฐ ต้องช่วยกันยกมือเพื่อสนับสนุนทีเส็บไปประมูลสิทธิ์นำงานไมซ์จากตลาดนานาชาติมาจัดในเมืองไทยเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุด
ส่วนที่ 3 การกระจายรายได้สู่ชุมชนทุกคนควรจะต้องหันมาให้น้ำหนักการจัดงานแบบยั่งยืน ทำให้เกิดนวัตกรรมไมซ์ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกไม่ได้วัดเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic impact) เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังได้เพิ่มใหม่อีก 3 ตัวชี้วัดใหม่ คือ 1.ผลกระทบทางสังคมด้วย (Social impact) 2.กลุ่มตัวแทนนานาชาติ (Nation Legacy) และ 3.ความสุขในการจัดงาน ควบคู่ไปด้วยกันทั้งหมด
นางศุภวรรรณ ย้ำว่า ขณะนี้และอนาคตอุตสาหกรรมไมซ์ของโลกกำลังมุ่งสู่ 5 เทรนด์ใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาณส่งถึงผู้ประกอบการไมซ์ในเมืองไทยต้องตื่นตัวเตรียมความพร้อมให้ได้เร็วที่สุด จะได้ก้าวสู่เป้าหมายในฐานะผู้นำไมซ์อาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสง่างามและยั่งยืน
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen