TCEB-ICCA นำไมซ์ปี 67 เปิดปฏิญญากรุงเทพอาหารยั่งยืน



ไทยโชว์ความสำเร็จเจ้าภาพจัดประชุมไมซ์ ICCA Congress 2023 ทำสถิติมีผู้เข้าร่วมมากสุดในเอเชียกว่า 1,100 คน นำเสนอปฎิญญาใหม่ในเวทีโลกใช้ปี’67 “Bangkok Pledge on gastronomy sustainability by ICCA”

  • TCEB นำไทยทุบสถิติไมซ์เอเชีย ICCAประชุมในกรุงเทพฯ นำคนเข้าร่วมมากสุด 1,100 คน
  • แจ้งเกิดปฏิญญากรุงเทพฯเพื่อการจัดการอาหารอย่างยั่งยืนปี’67
  • ไมซ์ไทยสร้างความสำเร็จในเวทีโลก 4 เรื่อง เป็นพื้นที่เป้าหมายจัด M-I-C-E

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB/ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ทีเส็บนำประเทศไทยสร้างความสำเร็จหลังเสร็จสิ้นเจ้าภาพจัดประชุมสมาชิก ICCA Congress 2023 สมาคมหลักด้านการประชุมนานาชาติของโลก ได้เลือกไทยเป็นสถานที่จัดงานไมซ์ที่กรุงเทพฯโดยมีผู้เชี่ยวชาญ ธุรกิจโรงแรม ศูนย์ประชุมนานาชาติ ผู้รับผิดชอบการจัดไมซ์ระดับโลก เดินทางเข้าร่วมงานกว่า1,100 คน ทำสถิติสูงที่สุดในเอเชีย แปซิฟิก ปี 2565 จัดที่โปแลนด์เข้าร่วมเพียง 900 รายเท่านั้น สร้างชื่อเสียงให้ไทยเนื่องจากสมาคมนี้จัดตั้งมากว่า 60 ปี ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุม ปัจจุบันมีสมาชิก91 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งพร้อมจะนำชื่อเสียงของไทยไปเผยแพร่ในตลาดโลกต่อไป

สำหรับงาน ICCA Congress 2023 จัดเป็นครั้งที่ 62 เวียนมาจัดในไทยปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปต์ ICCA Congress 2023’ legacy – Bangkok Pledge on gastronomy sustainability by ICCA

คุณประโยชน์ต่อเนื่องหรือ legacy จัดทำร่าง “ปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อการจัดการอาหารอย่างยั่งยืน : Bangkok Pledge on gastronomy sustainability by ICCA” ทาง ICCAจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการปี 2567 ซึ่งมีรายละเอียดเรื่องลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ ใช้วิธีต่อยอดการจัดการอาหารตามแนวทางของงานครั้งนี้ออกแบบเมนู จัดหาวัตถุดิบ และจัดการการสิ้นเปลืองด้านอาหาร ตลอดงานได้รับความร่วมมือจาก องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) “อบก.” กระทรวงมหาดไทย (มท.) และบริษัทผู้เชี่ยวชาญการคำนวณเรื่องคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ซึ่งเป็นครั้งแรกสามารถจัดได้

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากงาน ICCA ต่อเนื่องในอนาคตทางด้านตลาดไมซ์ ได้แก่

ส่วนที่ 1 ผู้เข้าร่วมงานเป็นระดับซีอีโอและผู้มีบทบาทในสมาคมใหญ่ ๆ อย่าง สมาคมแพทย์ สมาคมวิจัย แต่ละคนมีเครือข่ายลูกค้าอยู่ในมือคนละกว่า 10,000 ราย

ส่วนที่ 2 เป็นโชว์เคสให้ไทยได้แสดงศักยภาพของศูนย์ประชุมนานาชาติที่มีอยู่ทั้ง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์นิทรรศการแสดงสินค้าไบเทค และอื่น ๆ จัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกัน

ส่วนที่ 3 ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้บริการระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก และทางน้ำ สามารถเข้าถึงสถานที่ตามความสนใจและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่ 4 ได้กลุ่มใหม่ ๆ ระหว่างประเทศหลังโควิดสงบลงตอนนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจซึ่งสนใจเมืองไทยเพิ่มขึ้นทั้งสมาคมพลังงาน เครื่องมือทางการแพทย์ และอื่น ๆ มองหาสถานที่จัดงานพุ่งเป้ามายังประเทศแถบเอเชีย ไทยมีโอกาสมากกว่าเพราะเปิดประเทศก่อนและเร็วกว่าชาติอื่นๆ

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen