

- “TCEB” เปิดแผนกระตุ้นไมซ์ในและต่างประเทศ ปลุกห้างร้าน บริษัท องค์กรจัดประชุมสัมมนา-แสดงสินค้า
- ลดหย่อนภาษี 1-1.5 เท่า ได้ถึง 31 ธ.ค.65
- ลุยแจกงบ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” 1 ต.ค.นี้
- โหมขาย “7 Theme MICE” ควบ “ไมซ์ พรีเมี่ยม” ดึงกว่า 1,000 ชุมชน
- จัดทัพสินค้าโกยรายได้ไมซ์ไทยและอินเตอร์กระจายถึงมือท้องถิ่น
- ชู 10 เมืองไมซ์เชื่อมโยงขายเมืองรอบพื้นที่ฟื้นเศรษฐกิจไปด้วยกัน
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ทีเส็บเดินหน้าทำช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์รวม 4 โปรเจ็กต์ใหญ่แบ่งเป็นตลาดในประเทศ โครงการแรก “สนับสนุนมาตรการลดหย่อนภาษี” โดยนำค่าใช้จ่าย ประชุม สัมมนา จัดแสดงสินค้า ออกร้าน จัดนิทรรศการ มายื่นใช้สิทธิ ตามที่ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ประกาศมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมเป็นอินเซ็นทีฟให้บริษัท ห้างร้าน องค์กร ที่จัดงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ระหว่าง 15 กรกฎาคม -31 ธันวาคม 2565 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทแรก จัดงานประชุม สัมมนา ในประเทศ สามารถนำรายการจ่ายจริงมาใช้หักภาษีได้ 1-1.5 เท่า ของทั้งค่าห้องจัดสัมมนา ห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนา ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหลักและรอง คาดนิติบุคคลจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตลอดโครงการประมาณ 1,670 ล้านบาท จัดงานในประเทศ ทั้งแสดงสินค้า งานออกร้าน จัดนิทรรศการ โดยมีหนังสือรับรองการจัดงาน ซึ่งคาดจะมีผู้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเงิน 605 ล้านบาทจัดงานรวมประมาณ 6,050 บูธ
โครงการที่ 2 ทีเส็บเตรียมเปิดตัวโครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” ทีเส็บเตรียมแผนจะเปิดให้ผู้ประกอบการประเภท องค์กร สมาคม มูลนิธิ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่พร้อมจัดงานประชุม สัมมนา ในประเทศ ทีเส็บจะสนับสนุนเงินจัดงานเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ขณะนี้กำลังรอรัฐบาลอนุมัติงบดังกล่าว หากได้เงินมาก็จะทำโครงการนี้ทันทีเพื่อกระตุ้นกระจายการจัดประชุมทั่วประเทศได้ประมาณ 1,000 กรุ๊ป คาดจะเกิดการเคลื่อนไหวของคนที่จะเข้าร่วมประชุมได้มากถึง 30,000-50,000 คน
นางศุภวรรณ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ทีเส็บวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนเพิ่มอีก 2 โครงการที่สามารถใช้ได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่

โครงการที่ 3 เปิดเส้นทางขาย “7 Theme MICE” ต่อยอดนโยบายรัฐบาลเรื่องการกระจายรายได้ไมซ์สู่ชุมชน โดยจัดทำเป็น “เส้นทางไมซ์ -MICE Routing” คู่ขนานกันระหว่าง 10 เมืองไมซ์ (MICE CITY) กับ “ไมซ์ ชุมชน” (MICE COMMUNITY) วางกลยุทธ์เชื่อมโยงดึงนักเดินทางไมซ์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเมื่อเสร็จสิ้นการเข้าร่วมงานแต่ละงานในพื้นที่ 10 เมืองไมซ์ ก็จะแนะนำให้เดินทางไปใช้จ่ายเงินต่อเนื่องในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จากเชียงใหม่ ไปลำพูน ลำปาง
ปัจจุบันทีเส็บได้ประกาศ ไมซ์ ซิตี้ไว้ 10 เมือง ได้แก่ “ภาคเหนือ” 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก “ภาคกลาง” 1 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ “ภาคใต้” 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานีรวมสมุย ภูเก็ต สงขลา “ภาคอีสาน” 3 จังหวัดคือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และ ภาคตะวันออก 1 จังหวัด คือ พัทยา ชลบุรี
ส่วน “เส้นทางไมซ์ หรือ MICE Routing” ตั้งเป้ากระจายคนเข้าไปใช้เงินตามชุมชนรอบพื้นที่และจังหวัดเชื่อมโยงสร้างจุดขายเป็นให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่คือกลุ่มองค์กรสมัยใหม่ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของทีเส็บที่จะรุกเจาะให้ใช้จ่ายเงินตรงเข้าชุมชนเพิ่มมากขึ้น 7 ธีมหลัก ประกอบด้วย
ธีมที่ 1 ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นำเสนอให้ผู้เข้าร่วมงานที่ต้องการค้นหาวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของพื้นที่นั้นๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ดี ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ธีมที่ 2 การผจญภัย (Adventure) ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบทำกิจกรรมท้าทาย ผ่านกิจกรรมรุปแบบต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถต่อยอดไปถึงเรื่องการทำการสร้างทีมเวิร์กต่อไป
ธีมที่ 3 การสร้างทีมเวิร์ก หรือ Team Building ได้ออกแบบให้มีแตกต่างจากท่องเที่ยวทั่วไป โดยจัดให้มีเรื่องการทำกิจกรรมโดยตรงกับ พนักงาน กิจกรรม สัมพันธ์ต่าง ๆ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกันทำงานเป็นทีมด้วยกัน
ธีมที่ 4 CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์สไตล์ Green Meeting นำเสนอกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ หันมาทำความดีตอบสนองความรับผิดชอบต่อสังคม แตกต่างจากเดิมจะเน้นโครงการทั่ว ๆ ไปอย่างการปลูกป่า ปัจจุบันได้ดีไซน์ให้จะมีกิจกรรมทางเลือกมากขึ้น เช่น การสร้างห้องสมุดโรงเรียน กิจกรรมชุมชน การนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาทำอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น ช้าง

รวมทั้งได้กระตุ้นการทำกิจกรรมเทรนด์ใหม่ เช่น “ภาคเหนือ” จังหวัดเชียงใหม่มีปางช้างหลายแห่ง แต่ระยะหลังชาวต่างชาติต่อต้านการทรมานช้างจนต้องปิดกิจการ ทีเส็บจึงหันมาชวนผู้เข้าร่วมงานไมซ์ชุมชนหรือไมซ์ซิตี้เปลี่ยนมาช่วยกันทำกิจกรรม “เลี้ยงดูช้าง” พัฒนาเป็น Rehabitation Center หรือศูนย์บำบัดเลี้ยงช้าง แทนการขี่ช้าง เชิญชวนผู้เข้าร่วมไมซ์เข้าไปทำกิจกรรมศึกษษเรียนรู้วิถีชีวิตช้าง อาบน้ำช้าง ทำอาหารให้ช้าง หลายพื้นที่ให้ช้าง วาดรูป หรือระบายสีโลโก้องค์กรจัดประชุมนั้น ๆ กลายเป็นความน่ารักเชิงบวกอีกมุม หรือ “ภาคใต้” ก็ร่วมปล่อยเต่าลงสู่ทะเลปลูกหญ้าทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ธีมที่ 5 กิจกรรมบรรยากาศชายหาด การจัดประชุมต้อนรับบนชายหาด บนเกาะ ริมทะเล ตามรีสอร์ตธรรมชาติ ซึ่งมีไมซ์ ซิตี้ กระจายอยู่หลายพื้นที่ ทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออก
ธีมที่ 6 การจัดงานและกิจกรรมความหรูหรามีระดับ หรือ luxury ขณะนี้มีองค์กรหลายแห่งต้องการเลือกทำสิ่งใหม่แบบหรูหราในหลากหลายจังหวัดสามารถทำกิจกรรมได้พิเศษมากกว่าพื้นที่ทั่วไป

ธีมที่ 7 กิจกรรมนำเสนออาหารไทย ธีมนี้ทีเส็บให้ความสำคัญมากเป็นหนึ่งในพลัง Soft Power Thailand โดยสอดแซกเข้าไปในทุกการจัดงานอันหลากหลาย แนะนำให้เลือกใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นเข้ามาปรุงเมนูต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ทำอาหารไทยอย่างลึกซึ้งสร้างทรงจำอันประทับใจไปตลอด
ทีเส็บได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ประโยชน์จัดกิจกรรม 7 Theme MICE ได้ที่เว็บไซต์www.thaimiceconnect.com จะมีรายชื่อผู้ประกอบการทั้งหมดซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดไมซ์แต่ละธีม
โครงการที่ 4 “MICE Premium-เส้นทางสร้างสรรค์ใหม่ บนเส้นทางสายไมซ์” ระดชุมชนต่าง ๆ จัดการจัดท่องเที่ยวรวมกว่า 1,000 เส้นทาง ด้วยการนำอัตลักษณ์ชุมชนแต่ละจังหวัด มานำเสนอให้สมาคม องค์กรต่าง ๆ ไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตพร้อมกับใช้จ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์มาต่อยอดขายได้ เช่น เทศกาลปีใหม่ แต่ละบริษัทใช้สินค้าจำนวนมากสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ไมซ์พรีเมี่ยมรวบรวมไว้บนแพลตฟอร์ม thaimiceconnect.com มีทั้งหัตถกรรม อาหาร ข้าวออร์แกนิก สปาต่าง ๆ ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้ด้วย ในปี 2565 ทีเส็บนำร่องทำเส้นทางไมซ์ชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์มีชื่อเสียงเรื่องข้าวอินทรีย์ และมีดินภูเขาไฟนำมาทำผ้ามัดย้อม ปลูกผลไม้เศรษฐกิจอย่างทุเรียนภูเขาไฟ ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งไมซ์ พรีเมี่ยม

ปี 2566 ทีเส็บวางแผนต่อยอดขายไมซ์ พรีเมี่ยมตามชุมชนทั่วประเทศ รุกเจาะก่อนในพื้นที่ 10 จังหวัดไมซ์ ซิตี้ โดยได้เข้าไปบ่มเพาะ พัฒนาผู้ประกอบการในชุมชนเรียบร้อยแล้ว เช่น พัทยา ได้รับความนิยม 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านชากแง้ว เปิดตลาดคนเดินวันเสาร์-อาทิตย์ โดดเด่นเด่นด้านวัฒนธรรมจีน และชุมชนตะเคียนเตี้ย มีสวนมะพร้าวหลายร้อยไร่ ได้นำองค์กรจำนวนมากเลือกเข้าไปจัดกิจกรรมนำรายได้ลงสู่ท้องถิ่นโดยตรงได้อย่างแท้จริง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen