

- “TCEB” นำไทยผงาดผู้นำอาเซียน คุมมาตรฐานอาชีพ Event Management ทำหลักสูตรออกใบรับรอง สมัครงานได้ทุกประเทศ
- ปี’66 เดินหน้า 3 โปรเจกต์ “WINNOVATION” จัดไมซ์ไฮบริดนำร่องเทรนด์ใหม่ “Expectation-ความคาดหวังที่มากกว่าประสบการณ์ เปิดยุค AI Machine Learning”
- ชูธงโกยรายได้ “ต่างประเทศ” เจาะยุโรปโร้ดโชว์ เทรดโชว์ 2 งานโลก IMEX แฟรงเฟิร์ต กับ IBTM World สเปน
- “ในประเทศ” ลุยเพิ่ม 7 ไมซ์ซิตี้ เชียงราย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ จันทบุรี นครศรีธรรมราช หัวหิน ชะอำ
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ปี 2566 วางกลยุทธ์นำไมซ์ไทยขับเคลื่อนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนนำร่องในเวที ATF-ASEAN TOURISM FORUM 2023 ได้เสนอการต่อยอดจัดทำอย่างเข้มข้นเป็นระบบ “2 มาตรฐาน” ได้แก่ มาตรฐานที่ 1 สถานที่จัดประชุม AVS -ASEAN VENUE STANDARD” กับ มาตรฐานที่ 2 สมรรถนะวิชาชีพไมซ์ครบวงจรทั้ง M-I-C-E ซึ่งไทยขอเป็นผู้นำรับผิดชอบด้านมาตรฐานการจัดงาน Event Management กับการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (MI :Meeting &incentive) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนเรียบร้อยแล้ว

ส่วนประโยชน์จากการที่ทีเส็บเป็นตัวแทนประเทศไทยออกใบรับรอง “มาตรฐานผู้นำสมรรถนะอาชีพ” หรือ Event Management จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรแล้วผ่านการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ในอนาคตจะสามารถใช้ใบประกาศนียบัตรที่ได้รับไปสมัครงานไมซ์กับกลุ่มประเทศสมาชิกได้ ซึ่งทางอาเซียนได้อนุมัติกรอบการดูแลสมรรถนะเพื่อ “กำหนดเกณฑ์การออกข้อสอบ” ซึ่งล่าสุดมีข่าวดีคือทีเส็บได้รับการรับรองให้การรับรองผู้ฝึกอบรมวิชาชีพไมซ์ได้ด้วย
นางศุภวรรณกล่าวว่าปี 2566 วางแผนเดินหน้าต่อยอดนวัตกรรมไมซ์ไทยอีก 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 WINNOVATION PROGRAM มีอยู่ 2 โครงการย่อย เช่น 1.ให้โวเชอร์กับ Tech Firm หรือ Startup 2.จับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มจำนวนเทคเฟิร์มไมซ์ให้ได้ตามเป้าหมาย ร่วมกับกลุ่มที่มีเทคเฟิร์มจำนวนมากอยู่ในมือคือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเอเย่นซี่ครีเอทีฟ เป้าหมายก็เพื่อดึงเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้ไมซ์มากขึ้น
ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-1 เมษายน 2566 ทีเส็บจะร่วมกับพันธมิตรจัดงาน TECNO MART 2023 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์กับบริหารจัดการด้านตลาด บ่มเพาะการนำความรู้มาสังเคราะห์ใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าการตลาดเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการไมซ์ไทยจะเชี่ยวชาญมากเรื่องปฏิบัติการแต่ด้านดิจิทัลต้องใส่ทักษะเพิ่มให้ได้มากที่สุด จึงจะใช้งานนี้สร้างแคตาล็อกใส่รายชื่อผู้ประกอบการซึ่งถือเป็นคัดกรองไว้แล้วเพื่อให้คู่ค้ามาเลือกช้อปไปจับคู่เจรจาธุรกิจได้ต่อไปทั้งภายในประเทศและนานาชาติ

ขณะเดียวกันโครงการ “MICE WINNOVATION” ของทีเส็บคว้าอันดับ 1 ของโลก ที่ฝรั่งเศส มาเรียบร้อยแล้ว เป็นรางวัลทางด้าน Best Marketing จาก สมาคมจัดการแสดงสินค้าโลกหรือ UFI ในฐานะทีเส็บเป็นองค์กรที่สามารถ“ต่อยอดผลลัพธ์รายได้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้” ด้วยวิธีการเปลี่ยนกรอบความคิดหรือ mindset ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ทุกกลุ่ม กระตุ้นธุรกิจพร้อมยอมรับแนวคิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น
โครงการที่ 2 การขยายแนวจัดงานนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดงานในรูปแบบไฮบริด พร้อมกับนำเดต้ามาจัดงาน และการนำเทรนด์ใหม่ “Expectation Theory” หรือ “ความคาดหวังที่มากกว่าประสบการณ์” ผลักดันให้ “ผู้บริโภค” สินค้าและบริการเมื่อเข้าร่วมไมซ์ทุกงาน ผู้รับผิดชอบการจัดงานจะต้องหาวิธีทำให้เจ้าของงานหรือผู้เข้ามาใช้บริการได้เติมเต็มสิ่งที่คาดหวังให้ได้มากกว่าที่ต้องการ นำไปสู่การเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์หรืองานนั้น (Loyalty) ซึ่งทางผู้จัดงานจึงต้องหาวิธีมาเพิ่มพูนให้งานเติมความคาดหวังของคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โครงการที่ 3 การใช้ AI หรือ Machine Learning ซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องมือสำคัญเข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมไมซ์ในกลุ่มดิจิทัลยุคนี้ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
นางศุภวรรณ กล่าวว่า ทีเส็บวางแผนพัฒนาและนวัตกรรมไมซ์ระยะ 5 ปีหน้า ระหว่างปี 2566-2570 เริ่มจากปี 2566 ไมซ์ยังฟื้นตัวไม่ได้มากเท่ากับสถานการณ์ปกติปี 2562 แต่แนวโน้มไมซ์ปี 2567 จะมี “รายได้” เป็นปกติ ด้วยวิธีกระตุ้นเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ไมซ์ในประเทศ ทีเส็บเน้นจุดขาย 10 เมืองไมซ์ (MICE CITY) ภาคเหนือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ภาคอีสานอุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ภาคใต้ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี(สมุย) สงขลา “ภาคตะวันออก” พัทยา จ.ชลบุรี “ภาคกลาง” กรุงเทพฯ
ควบคู่กับการจะใช้วิธี “ประเมินความพร้อมประกาศเพิ่มเมืองไมซ์” ใน 4 ภาค อีก 7 จังหวัด ได้แก่ “ภาคเหนือ” เพิ่มเชียงราย “ภาคอีสาน” เพิ่มบุรีรัมย์กับอุบลราชธานี “ภาคใต้” เพิ่มนครศรีธรรมราช “ภาคตะวันออก” เพิ่มจันทบุรี“ภาคกลาง” เพิ่มหัวหิน/ประจวบคีรีขันธ์ กับชะอำ/เพชรบุรี โดยจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อดึงดูดงานเข้าไปจัดให้มากที่สุด
ส่วนที่ 2 ไมซ์ตลาดต่างประเทศ ตอนนี้ต้องใช้กลยุทธ์ “เพิ่มวันพักกับเพิ่มการใช้จ่ายเงิน” จะกระตุ้นได้ตลาดหลักคือ“ยุโรป” เนื่องจากเดินทางมาไกลอาจจะต้องกระตุ้นให้เดินทางมาก่อนการเข้าร่วมแต่ละงานแล้วกลับทีหลัง เพื่อทำให้พักอยู่ในไทยนานวันที่สุด โดยได้วางแผนทำตลาดเชิงรุก 2 แนวทาง ดังนี้
แนวทางแรก “จัดโร้ดโชว์” เน้นเจาะลูกค้าโอเปอเรเตอร์กับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ซื้อ และบริษัทรับบริหารจัดการเดินทาง DMC :Destination Management Companies ตอนนี้มีลูกค้าหลักอยู่แล้วคือ อังกฤษ เยอรมัน ปี2566 ตั้งเป้าเพิ่มกลุ่มรัสเซีย

แนวทางที่ 2 เข้าร่วม “งานเทรดโชว์ระดับโลก” ซึ่งจะมี 2 รายการใหญ่ ได้แก่ IMEX FRANKFURT ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมันี กับ IBTM WORLD ที่ประเทศสเปน
สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยเมื่อปี 2562 ทีเส็บเคยสร้างสถิติรายได้ไว้รวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ล้านบาท จาก “ตลาดในประเทศ” กว่า 100,000 ล้านบาท แต่จะต้องพึ่งพาจำนวนคนเข้าร่วม 29-30 ล้านคน ต่างจาก “ตลาดต่างประเทศ” ทำรายได้ใกล้เคียง 100,000 ล้านบาท ด้วยจำนวนคนเข้าร่วมเพียงหลักล้านคน ดังนั้นปี 2566 เมื่อทั่วโลกเปิดประเทศการตั้งเป้าขยายฐานตลาดต่างประเทศจะสามารถเพิ่มรายได้เข้าไทยเติบโตได้เร็วกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen