

- “TCEB”นำธุรกิจเอ็กซิบิชั่นฟื้นปี’66โตเกินเป้า21,400ล้านบาทงัดกลยุทธ์เด็ด4ยุทธศาสตร์
- เพิ่ม4บทบาทใหม่“ผู้ร่วมมือ–ผู้ประสาน–ผู้ลงทุน–ผู้นำทางความคิด”กอดคอทุกภาคส่วนดึงตลาดโลกเข้าไทย
- ยึดพื้นที่ไข่แดงEECศูนย์กลางจับคู่งานอินเตอร์กับกำลังซื้อS-CURVE 12อุตสาหกรรมนำไมซ์สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน
นายดวงเด็ดย้วยความดีผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ(Exhibition)สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) “TCEB”เปิดเผยว่าสถานการณ์ตลาดจัดแสดงสินค้านานาชาติ (exhibition)เริ่มตั้งแต่ปลายปี2565ไทยเป็นประเทศติดอันดับเตรียมพร้อม1ใน3ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดงานแบบวิถีใหม่ดูแลควบคุมการจัดงานด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมผนวกเข้ากับการจัดไมซ์อย่างยั่งยืนและได้บ่มเพาะผู้ประกอบการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี2563-2564จนกระทั่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางเอ็กซิบิชั่นเบอร์1ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คาดปี 2566 จะมีงานเอ็กซิบิชั่นต่างประเทศเข้ามาจัดในไทยประมาณ 180 งาน สิ้นสุดปีนี้เอ็กซิบิชั่นมีแนวโน้มจะทำรายได้เข้าประเทศ 21,400 ล้านบาท โดยมีนักทางเชิงธุรกิจเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าไม่ต่ำกว่า 300,000 คน สูงกว่าเดิมวางเป้ารายได้ไว้ประมาณ 16,000 ล้านบาท จากจำนวน 160,000 คน แต่ผลประกอบการครึ่งแรกปีนี้ทำได้แล้วถึง 14,000 ล้านบาท จาก 220,000 คน

เนื่องจากมีอุตสาหกรรมใหม่ต่อเนื่องเข้ามาจัดอยู่ตลอด รวมทั้งการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขควบคุมโควิด-19 ระบาด ทำให้ทั่วโลกเกิดความมั่นใจพร้อมจะเคลื่อนคนเข้ามาจัดงานในไทย ถือเป็นจุดแข็งที่ได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายสร้างความพร้อมทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นแรงส่งทำให้ไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางการจัดเอ็กซิบิชั่นไมซ์ที่ได้รับความนิยมจากตลาดทั่วโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ตลอดครึ่งแรกปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-มีนาคม 2566) ทีเส็บดำเนินงานด้านเอ็กซิบิชั่นภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน ได้บ่มเพาะโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมให้ทุกคนพัฒนาทันที และขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจมากกว่าเพียงแค่จัดงานที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเพียงอย่างเดียว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 จัดงานเอ็กซิบิชั่นโดยเน้นความยั่งยืน ทั้งตลาดต่างประเทศ หรือในประเทศ ทุกงานจะแสวงหาการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ทางทีเส็บมีไกด์ไลน์ให้ผู้ประกอบการแต่ละงานจัดได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนต่างประเทศที่นำงานมาจัดในไทยก็สบายใจด้วยเช่นกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 Innovative Solution ผลักดันให้การจัดงานไมซ์ที่มีความสะดวกและง่ายต่อโลกมากขึ้น ขยายผลและลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่ 4 Build Agile บูรณาการทำงานภายในองค์กรรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้มีความสามารถมากขึ้น เช่นช่างไฟ หรือฝ่ายอื่น ๆ ไม่ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่อีกต่อไป
นายดวงเด็ดกล่าวว่าขณะนี้เดินหน้าตลาดเอ็กซิบิชั่นครึ่งหลังปี 2566 ทีเส็บคุยกับออร์กาไนเซอร์หลายส่วนพุ่งเป้าหมายไปยัง กลุ่มที่ 1 ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ทั้งสองประเทศมีความเคลื่อนไหวต้องการสถานที่ใหม่เป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานเอ็กซิบิชั่น ทางไทยเองร่วมกับมือพันธมิตรสถานที่จัดงานซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ให้เลือกจำนวนมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมทันสมัย ร่วมมือกับลูกค้าที่นำงานเข้ามาจัดในไทย นับเป็นยุทธศาสตร์เป็นพันธมิตรร่วมกัน
กลุ่มที่ 2 ออร์กาไนเซอร์ในตลาดยุโรป อังกฤษ เยอรมัน 2 ประเทศหลัก กำลังเติบโตจึงเลือกจะมาจัดงานในประเทศแถบเอเชีย ทีเส็บผลักดันไทยเป็นประเทศแรกที่จะนำงานเข้ามาจัด ปี 2566 คาดหวังจะทำสถิติใหม่ทำได้ไม่น้อยกว่า26 งาน ซึ่งเป็นจำนวนงานสูงมากหากเปรียบเทียบกับการเพิ่งจะกลับมาเปิดประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19
ส่วนขนาดการจัดงานเอ็กซิบิชั่น แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก ขนาด 1,000-3,000 ตารางเมตร มีจำนวนมากที่สุดประมาณ 50 % ส่วนที่ 2 ขนาดกลาง 3,000-6,000 ตารางเมตร มีประมาณ 30 % ส่วนที่ 3 ขนาดใหญ่เกิน6,000 ตารางเมตรขึ้นไป มีประมาณ 1-2 งาน

ล่าสุดทีเส็บได้ปรับบทบาทใหม่จาก“ผู้สนับสนุน” เพิ่มเป็นอีก 4 บทบาท คือ
บทบาทที่ 1 ผู้ร่วมสร้าง กรณีมีผู้จัดการงานใหม่ ๆ เข้ามาก็จะเข้าไปร่วมสร้างแพทเทิร์นใหม่ให้ความร่วมมือพูดคุยข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้นำงานเข้ามาจัดเกิดความมั่นใจถึงกำลังซื้อมีอยู่จริง ยุทธศาสตร์สำคัญตอนนี้คือการทำงานร่วมกับทางเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor) มีกำลังซื้อเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาลซึ่งพร้อมจะเดินเยี่ยมชม และซื้อเทคโนโลยีทั้งหลายหากมีงานเข้ามาจัดยังพื้นที่ดังกล่าว
บทบาทที่ 2 ผู้ประสานงานอำนวยความสะดวกหรือ Collaborator เช่น การจัดงานจิวเวอรี่ เครื่องสำอางค์ จะมีกฎระเบียบค่อนข้างเคร่งครัด ทีเส็บจะช่วยประสานกับหน่วยงานกำกับดูแลระเบียบหารือกันเพื่อหาวิธีนำสินค้าเข้าและออกภายใต้กฎหมายของประเทศที่รองรับอยู่ ซึ่งภาครัฐค่อนข้างให้ความสำคัญและร่วมมือเป็นอย่างดี สร้างความสามารถทางการแข่งขันจนทำให้ไทยชิงงานมาจัดในไทยได้หลายงาน
บทบาทที่ 3 ผู้ร่วมลงทุนกับงานต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และมีเป้าหมายดึงนักเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาชมงานในบ้านเรา เพราะจะได้ค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเชิงธุรกิจที่มาดูงานแสดงสินค้าสูงกว่านักเดินทางปกติทั่วไปถึง 3 เท่า ตอนนี้เฉลี่ยทำได้ประมาณ 66,000 บาท/คน/ทริป
บทบาที่ 4 ผู้นำทางความคิดให้อุตสาหกรรม หรือ Thought Leadership โดยมีนักวิจัยและหาข้อมูลอนาคตเพื่อบอกถึงเทรนด์อนาคตที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมไมซ์อีก 3-5 ปี จากนั้นก็นำข้อมูลมาเตรียมผู้ประกอบการในประเทศตัวอย่างตอนช่วงเกิดโควิด-19 ทีเส็บทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการหลายเรื่อง พอเปิดประเทศเอกชนก็ดำเนินการได้ทันที

นายดวงเด็ดกล่าวว่าช่วงครึ่งหลังปี 2566 ทีเส็บจะนำงานใหม่ ๆ เข้ามาจัดในเมืองไทยโดยภาพรวมงานที่ทีเส็บนำเข้ามาจัดในไทยจะมุ่งตอบสนองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย 2 มิติ คือ มิติแรก “งานที่สร้างความยั่งยืน” เมื่อนำมาจัดแล้วจะต้องจัดต่อเนื่องในไทย สร้างความมั่นคงสูง โดยจะนำไปวิเคราะห์ลักษณะงานควรสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในประเทศที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนเต็มที่ 12 SCURVE เมื่อมีงานแสดงสินค้าเครื่องจักร นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดความมั่นใจกำลังซื้อในประเทศจะมีมากเพียงพอ แล้วยังสามารถดึงกำลังซื้อจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม เข้ามาได้ด้วย เช่น งานจิวเวอรี่ เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หรืองานโลจิสติกส์ โรโบติก ซึ่งจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม
มิติที่ 2 งานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV หรือระบบรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งไทยลงทุนค่อนข้างมาก หรืองานเกี่ยวข้องดิจิทัลเทค (digital Tech) ผลักดันประเทศเข้าสู่เทรนด์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐเช่นกัน
นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับออร์กาไนเซอร์ต่างประเทศ ดึงการแสดงสินค้าด้านพลังงานมาไทย เริ่มเดือนพฤษภาคม2566 มีงาน FUTURE ENERGY เน้นใช้พลังงานสะอาดและพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาแล้ว ยังเน้นนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาใส่ด้วย ในอดีตเมื่อกล่าวถึงรถยนต์ระบบไฟฟ้า EV ภายในเวลาไม่กี่ปีนวัตกรรมการชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์ใช้เวลาไม่นานก็ชาร์ตได้เต็มแล้ว รวมทั้งงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ที่ประหยัดพลังงานด้วย
สำหรับงานที่เกี่ยวข้องความยั่งยืนทางพลังงาน ขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ในไทยจัดงานขึ้นเองแล้ว เช่น ไทยเบฟ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้ไทยเป็นผู้นำด้านการจัดงานขนาดใหญ่ไปเรียบร้อยแล้วอีกทั้งยังลงลึกไปถึงวางรูปแบบการจัดงานตามแนวทางส่งเสริมลดโลกร้อน ลดการใช้พลาสติก ลดพลังงาน ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองทั้งหลาย แล้วนำกลับไปรีไซเคิลได้ด้วย
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน#gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen