“TCEB” ควง กทม.รับ ICCA ดึงงานโลกจัดในกรุงเทพฯ นำ 91 ชาติร่วมประชุม 12-15 พ.ย.66 เงินสะพัด 434 ล้าน



  • TCEB แท็กทีม กทม.ต้อนรับ ICCA สมาคมการประชุมโลกประสานเสียงมั่นใจเลือก “กรุงเทพฯ”
  • เจ้าภาพจัด The 62nd International Congress and Convention Association Congress 2023” 12-15 พ.ย.65
  • นำสมาชิก 91 ชาติ กว่า 1,000 คน กระจายใช้เงิน 3 วัน สะพัดเมืองไทยกว่า 434 ล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม The 62nd International Congress and Convention Association Congress 2023” หรือ ICCA Congress 2023 ร่วมกับ สมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) โดยได้ต้อนรับคณะสำรวจจาก ICCA ที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยระหว่างวันที่5-9 ธันวาคม 2565 และร่วมกันตั้งเป้าหมายให้การประชุม ICCA Congress 2023 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon-Neutral Event) มุ่งส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืนและจัดการสิ่งแวดล้อมได้ประสบความสำเร็จสอดคล้องกับล่าสุด “กรุงเทพมหานคร” คว้ารางวัล Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) 2022 ในหมวด Most Improved Award

สมาคม ICCA มีสมาชิกภาครัฐและเอกชนกว่า 1,000 หน่วยงาน จาก 91 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจทั่วโลก มาช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมเพิ่มรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  

ตามกำหนดจะจัด ICCA Congress 2023 ประชุมสามัญประจำปี ขึ้นระหว่าง 12-15 พฤศจิกายน 2566 ที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนมีนาคม 2566 จะเปิดรับลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงานให้ได้กว่า 1,000 คน แบ่งเป็น ต่างชาติ800 คน และไทย 200 คน คาดตลอดงาน 3 วัน จะสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ากว่า 434.92 ล้านบาท  4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 85 ล้านบาท ส่วนที่ 2 สร้างมูลค่าทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติให้กับประเทศไทยกว่า 300 ล้านบาท ส่วนที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศ (GDP) กว่า 47 ล้านบาท ส่วนที่ 4 เกิดรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุม 2.92 ล้านบาท

โดยมีทีเส็บเป็นองค์กรหลักสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการจัดประชุมนานาชาติผ่านโครงการสำคัญ ๆ ที่สนับสนุนเช่น การจัดประชุมนานาชาติ การประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติ การสร้างโอกาสทางธุรกิจและฐานตลาดใหม่ในระดับนานาชาติ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติในวงการการประชุมนานาชาติ รวมทั้งการพัฒนาสมาคมและผู้ประกอบการ และเร่งฟื้นเศรษฐกิจเมืองไทย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกและคุณประโยชน์ต่อเนื่องหลังการจัดงาน

ส่วนการจัดประชุม ICCA Congress เดือนพฤศจิกายน 2566 จัดขึ้นในไทยเป็นครั้งที่ 3 และนับเป็นการจัดในกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 โดยร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน  ระหว่าง ICCA และทีเส็บร่วมกับ กรุงเทพมหานครในฐานะเมืองเจ้าภาพ (Host City) แบ่งหน้าที่กันทำคือ “ทีเส็บ” ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในประเทศ (Local Host) รับดำเนินการและประชาสัมพันธ์การจัดงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายไทย (Local Organizing Committee) ประกอบด้วย องค์กรสมาชิก ICCA ในไทยและเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนงาน เตรียมความพร้อมและดูแลองค์ประกอบการจัดงานทุกขั้นตอน  

นายเซนทิล โกพินาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) กล่าวว่า ยินดีนํางาน ICCA Congress ครั้งที่ 62 มาจัดที่กรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน 2566 เลือกไทยเนื่องจากเป็นประเทศที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมการประชุมนานาชาติ และมีศักยภาพจัดงานประชุมชั้นนำระดับโลกอีกหลายรายการ โดยเฉพาะทีเส็บเน้นพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติในไทยได้อย่างน่าชื่นชม รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับICCA มาอย่างยาวนานร่วมมือทำงานระดับโลกมาแล้วมากมาย

งาน ICCA Congress 2023 จึงเป็นอีกงานสำคัญ หลังได้มาสำรวจความพร้อมพื้นที่ครั้งนี้แล้วมีความมั่นใจว่ากรุงเทพฯ คือสถานที่จัดงานที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน และรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นบุคลากรในอุตสาหกรรมการประชุมจากทั่วโลกมารวมตัวกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) และร่วมสัมผัสประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน

อีกทั้งการเลือกมาจัดในกรุงเทพฯ ถือเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญในโครงการ “Bangkok Vision 2032” ของเมือง ซึ่งมุ่งมั่นนำเสนอกรุงเทพฯ ผ่านแนวคิดและมุมมองใหม่สู่ประชาคมโลก กรุงเทพมหานครมีบทบาทสำคัญต่อการจัดงานนับตั้งแต่กระบวนการประมูลสิทธิ์เจ้าภาพ การร่วมเดินทางไปรับธงเจ้าภาพ ที่เมืองคราเคา โปแลนด์ และการเตรียมความพร้อมของเมืองเพื่อแสดงศักยภาพของไทย

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร” มีความพร้อมทุกมิติที่จะทำให้ ICCA Congress 2023 เป็นอีกการจัดประชุมที่จะสร้างมาตรฐานให้ทุกคนที่เข้าร่วมจดจำได้ ในฐานะเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอุดมด้วยความหลากหลายทั้งความเป็นพหุวัฒนธรรม เชื้อชาติ อาหารตั้งแต่สตรีทฟูดจนถึงเชฟในภัตตาคาร 6 ดาว โบราณสถาณ สถาปัตยกรรมร่วมสมัย สถานที่เพื่อการจัดประชุม สถานที่จัดเลี้ยง หอศิลปวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์ และพื้นที่เอนกประสงค์อื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ไฮไลต์สำคัญคืออุดมด้วยศิลปการแสดงเป็นเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็น นาฎศิลป์ ดนตรี การแสดงร่วมสมัย กีฬามวยไทย โดยบุคคลากรภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัว พร้อมต้อนรับคณะ ICCA และแขกผู้มีเกียรติทุกคน

อีกทั้งประเทศไทยยังได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia Convention Alliance Association Forum ครั้งที่ 1 (#ACAAF1) ซึ่งเป็นงานแรกของกลุ่มพันธมิตรด้านการจัดประชุมนานาชาติร่วมเครือข่าย Asia Convention Alliance (ACA) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างตัวแทนผู้บริหารสมาคมเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติ โดยมีองค์กรพันธมิตรจาก 4 พื้นที่สำคัญได้แก่ ไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ร่วมขยายเครือข่ายพันธมิตรส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติร่วมกัน

คาดงานนี้จะสร้างโอกาสดึงงานประชุมนานาชาติอย่างน้อย 4 งาน ซึ่งจัดหมุนเวียนในกลุ่มสมาชิกโดยงาน#ACAAF1 จะจัดในกรุงเทพฯ ช่วงเวลาเดียวกับงานประชุม ICCA Congress 2023 ด้วย  

สำหรับ ICCA เป็นสมาคมหลักด้านการประชุมนานาชาติของโลก จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2506 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุม ปัจจุบันมีสมาชิก 91 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งหมุนเวียนเลือกจัดการประชุมสมาชิกไปตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กระทั่ง พฤศจิกายน 2566 เลือกกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงแห่งการจัดประชุมระดับนานาชาติ

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen